วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

อช.เอราวัณ นำร่อง”โครงการฝึกอบรมเยาวชนสร้างชาติพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ”

กาญจนบุรี อช.เอราวัณ นำร่อง“โครงการฝึกอบรมเยาวชนสร้างชาติพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ( NBIJunior ParKs Rangger) พร้อมนำเยาวชน ร่วมกันปลูกต้นไม้พื้นถิ่น ฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ที่ตรวจยึดคืนหลวง

วันนี้ 7 ก.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมเพลินพนา อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี นายศักดิ์ชัย อัศวินอานันท์ อัยการอาวุโส (นสช.7)สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานในพิธีเปิด“โครงการฝึกอบรมเยาวชนสร้างชาติพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ( NBIJunior ParKs Rangger)

ให้แก่นักเรียน นักศึกษา จากวิทยาลัยการอาชีพกาญจนบุรี โรงเรียนศรีสวัสดิ์พิทยาคม โรงเรียนบ้านน้ำมุด โรงเรียนสมเด็จพระปิยะมหาราชรมณียเขต โรงเรียนร่มเกล้ากาญจนบุรี พร้อมด้วยคณะนักศึกษาสถาบันสร้างชาติ รุ่นที่ 8 กลุ่มประเทศโครเอเชีย และกลุ่มประเทศสโลวาเกีย จำนวน 150 คน มีดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติและวิทยากรจากสถาบันการสร้างชาติ บรรยายเรื่องบทบาทของเยาวชนสร้างชาติต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

นายเลอศักดิ์ ดุกสุขแก้ว อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย บรรยายเรื่องกฎหมายและภัยที่เยาวชนควรรู้ในโลกปัจจุบัน โดยมีนายปยุษญ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ และ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ให้การต้อนรับ การบรรยายใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ

จากนั้นเวลา 14.30 น.คณะทั้งหมดได้เดินทางไปที่หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเสื่อมโทรมด้วยการร่วมกันปลูกต้นไม้พื้นถิ่นเช่นไม้แดง มะค่าโมง ยางนา ตะเคียนทอง จำนวน 500 ต้น บนเนื้อที่กว่า 1 ไร่ สำหรับพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ตรวจยึดดำเนินคดีแล้ว สำหรับบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ท่ามกลายสายฝนที่ตกโปรยปรายลงมา

ทั้งนี้ ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า สำหรับ“โครงการฝึกอบรมเยาวชนสร้างชาติพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ( NBIJunior ParKs Rangger)ที่จัดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณในครั้งนี้ถือว่าเป็นโครงการนำร่อง

ซึ่งเราต้องการให้เยาวชนเหล่านี้ด้เข้าไปฟื้นฟูผืนป่าในที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรม จากการถูกบุกรุกและทำลายมาก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้มีพื้นที่ที่ราษฎรเข้าไปอยู่อาศัยทั่วประเทศมีประมาณ 4.7 ล้านไร่ ในพื้นที่ 4.7 ล้านไร่ กรมอุทยานฯมีความตั้งใจที่จะให้มีต้นไม้อย่างน้อยไร่ละ 25 ต้น

เพราะฉะนั้นในวันนี้อุทยานฯมีพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปอาศัยอยู่และมีการปลูกข้าวโพดและพืชไร่ ชนิดต่างๆ ซึ่งเราจะใช้เยาวชนเหล่านี้เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการเข้าไปปลูกต้นไม้ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ ไม่ใช่เพียงแค่ให้ประชาชนปลูกเฉพาะพืชไร่เท่านั้น ซึ่งเราจะให้ประชาชนหันมาปลูกพืชในระบบวณเกษตร เพื่อความยั่งยืน

สำหรับวันนี้เรามีมติอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือเราได้เอาเยาวชนที่มีครอบครัวที่มีบ้านอาศัยอยู่โดยรอบอุทยานแห่งชาติ ส่วนที่สองคือเอาคนที่อยู่ในเมืองที่ได้รับการบริการในด้านนิเวศวิทยาของอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ เรื่องการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วม“โครงการฝึกอบรมเยาวชนสร้างชาติพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ( NBIJunior ParKs Rangger)

ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะได้ช่วยผลักดันการประชาสัมพันธ์ให้เครือข่ายของนักเรียนนักศึกษาที่ไม่ได้มาในวันนี้ให้เข้าใจ และนำไปสร้างเป็นชมรมขึ้นมา จะทำให้สามารถสร้างโครงการต่างๆขึ้นมาภายในโรงเรียนนั้นได้ เมื่อเขาสามารถสร้างเป็นชมรมขึ้นมาได้ เด็กและเยาวชนที่เป็นชมรมก็จะสามารถมาร่วมปลูกป่ากับกรมอุทยานฯและภาคประชาชนได้ต่อไป

ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง กล่าวและว่า วันนี้นอกจากจะให้เยาวชนได้มีความรู้ในการปลูกต้นไม้แล้ว ยังยังได้อบรมให้ความรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายว่าเราจะลดขยะประเภทพลาสติกในเขตอุทยานแห่งชาติ ให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าหากลดขยะให้เป็น( 0) นั้นคงจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ว่าวันนี้เราได้ปลูกฝังให้เยาวชนใช้พัสดุอื่นแทนพลาสติก โดยเฉพาะพัสดุที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งวันนี้เราได้แจกกระป๋องน้ำที่นำไปใช้ทดแทนขวดพลาสติกที่บรรจุน้ำได้

ในขณะเดียวกันเราได้รณรงค์ให้เยาวชนที่มาอบรมในวันนี้ให้หันไปใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก จากการอบรมก็มีเยาวชนหลายคนได้แสดงความคิดเห็นด้วยว่าอยากจะให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายในโรงเรียนทุกโรงเรียน โดยจะมีการไปตั้งชมรมลดการใช้ถุงพลาสติกขึ้นภายในโรงเรียนของเขา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งเริ่มต้นที่ดีเป็นอย่างมาก

ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี รายงาน

Loading