วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง ลงนามทางวิชาการเพื่อจัดการศึกษา

สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง ลงนามทางวิชาการเพื่อจัดการศึกษา

ที่รอยัลริเวอร์แคว รีสอร์ท แอนด์สปา จ.กาญจนบุรี น.ส.อินดา แตงอ่อน ผู้อำนวยสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 นางฉันทนา พิพัฒน์บรรณกิจ รองผู้อำนวยการฯ ทำพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อจัดการศึกษาระหว่างสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 สภาอุตสาหกรรมภาคกลางตอนล่าง1 และสภาอุตสาหกรรม จ.นครปฐม

ประกอบด้วยนางเบญจมาศ สมบูรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง นายสมภพ ธีระสานต์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง นางสาวจินตนา ชิ้นปิ่นเกลียว ประธานสภาฯ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 นายสรรเพชญ ศลิษฐ์อรรธกร ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี นายเฉลิมฉัตร จันทร์อินทร์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี นายอุดม ใจเย็น ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี นายไพศาล ว่องไวกลยุทธ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี พล.ต.ต.ศิรเมศร์ พันธุ์มณี รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม โดยสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดภาคกลาง คือ จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี และ จ.นครปฐม มีวิทยาลัยจำนวน 9 แห่งคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี วิทยาลัยการอาชีพกาญจนบุรี วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม เปิดสาขาการเรียนการสอนในระดับปริญาตรี ใน 13 สาขาวิชาชีพมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557

ด้านนางเบญจมาศ สมบูรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมภาคกลาง ขอแสดงความชื่นชม กับความร่วมมือระหว่างสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 สภาอุตสาหกรรม กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม ในการขับเคลื่อนด้านวิชาการในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพ ระดับเทคโนโลยีนโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนประเทศ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง อันหมายถึงประเทศกำลังพัฒนา ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงและกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แนวทางในการดำเนินการของแผนนโยบายเป็นแผนระยะยาว 20 ปี เพื่อนำประเทศไปสู่ความทันสมัย สอดคล้องกับยุคดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนทั่วไป การเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ยุค 4.0 ส่งผลต่อทุกภาคส่วนรวมถึงอาชีวศึกษาไทย ซึ่งในปัจจุบันทรัพยากรบุคคลที่เป็นที่ต้องการของตลาดในภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการต่างๆ ก็คือ เด็กช่าง ที่มีทักษะในการทำงาน มีทักษะสมรรถนะอาชีพ มีคุณธรรม และจะต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีให้เข้ากับยุคดิจิทัลอีกด้วย ดังนั้น อาชีวศึกษาต้องปรับตนเองให้เป็นอาชีวศึกษา 4.0 ที่ผลิตคนยุคดิจิทัลเข้าสู่การควบคุมเครื่องจักรและสร้างสรรค์ประดิษฐ์กรรม อันนำไปสู่ผลิตภัณฑ์จากความคิดสร้างสรรค์ ผลิตคนที่จะไปประกอบอาชีพอิสระและเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่ที่มีทักษะทำมาหากินได้ด้วยตนเอง

ในส่วนของอุตสาหกรรมก็จะปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะพึ่งพาเครื่องจักรและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้ามาแทนแรงงานคน เปลี่ยนการผลิตที่เน้นการเพิ่มผลผลิตจำนวนมากโดยการใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม คนจะเปลี่ยนไปเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักร เปลี่ยนไปเป็นผู้คิดค้นและกำหนดวิธีการทำงานให้เครื่องจักร จึงต้องใช้คนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงเข้ามาแทนที่แรงงานฝีมือแบบเดิม ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาตลาดแรงงาน พัฒนาภาคอุตสาหกรรม และส่งผลต่อเนื่องไปยังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกด้วย

นันทชัย ศิริอรุณรัตน์ /จตรุพร สุขอินทร์/ วัฒนพล มัจฉา

Loading