วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

พบฝูงผีเสื้อกลางคืน”ชนาดใหญ่กว่า 40 ตัว

กาญจนบุรี พบฝูงผีเสื้อกลางคืน ขนาดใหญ่กว่า 40 ตัว บนต้นกระท้อนหน้าบ้านชาวบ้าน ใน อ.สังขละบุรี ขณะที่เจ้าของบ้านเผย ก่อนหน้านี้มีมากกว่า 100 ตัว โดยต้นกระท้อนค้นนี้ จะมีผีเสื้อมาทำรังวางไข่ทุกปี แต่ปีนี้เยอะสุด

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า ที่ต้นกระท้อน ซึ่งยืนต้นอยู่หน้าบ้านนายหล้า วัย 61 ปี ชาวบ้านบ้านหลังเขา หมู่ที่ 3 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีฝูงผีเสื้อกลางคืน ขนาดใหญ่เกาะอยู่เป็นจำนวนมาก ผ้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปยังบ้านหลังดังกล่าว พบชาวบ้านกำลังยืนดูผีเสื้อกลางคืนที่เกาะอยู่บนต้นกระท้อน โดยมีนายหล้า กำลังเล่าถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นให้เพื่อนบ้านฟัง ด้วยความสนใจ

วันนี้ 26 ต.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบฝูงผีเสื้อที่เกิดจากการวางไข่ของผีเสื้อรุ่นที่แล้ว โดยพบอยู่บนต้นกระท้อน โดยต้นนี้จะมีผีเสื้อให้เห็นทุกปี มากบ้างน้อยบ้าง แต่ปีนี้เป็นปีที่พบมากที่สุด เมื่อช่วงต้นเดือนพบฝูงผีเสื้อกลางคืนมากกว่า 100 ตัว แรกๆเด็กในหมู่บ้านเดินผ่านไปมาก็จะเอาหนังสะติ๊กมายิง ต่อมาได้ห้ามไม่ให้ยิง เนื่องจากเห็นว่า ผีเสื้อมีความสวยงามและแปลกดี อีกทั้งผีเสื้อกลางคืนที่เห็นมีขนาดใหญ่ น่าเก็บเอาไว้ โดยปัจจุบันยังมีผีเสื้ออาศัยอยู่บนต้นกระท้อนต้นนี้อีกเกือบ 30 ตัว

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สังเกตใบกระท้อนจะพบว่า เริ่มมีรังผีเสื้อเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก จากการสุ่มวัดขนาดของผีเสื้อ พบว่ามีความกว้างจากปลายปีกทั้ง 2 ข้างกว่า 28 เซนติเมตร ขณะที่มีลำตัวขนาดใหญ่วัดความยาวได้กว่า 6 เซนติเมตร โดยมีสีสันและลวดลายที่สวยงาม ผีเสื้อกลางคืน เป็นผีเสื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พบได้ไม่ง่ายนัก

การสืบพันธุ์ โดยการวางไข่ไว้บนต้นไม้เช่น ต้นกระท้อน ซึ่งลักษณะไข่กลมสีน้ำตาล ขนาดประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ระยะฟักไข่ประมาณ 7 วัน เมื่อเป็นตัวหนอนมีปุ่มหนามทั่วตัว ลอกคราบ 5 ครั้ง หนอนวัยที่ 1 ขณะฟักออกจากไข่ ตัวยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หนอนวัยที่ 5 ขนาดตัวยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ระยะเวลาที่เป็นตัวหนอนประมาณ 1 เดือน ก่อนเตรียมตัวเข้าดักแด้ โดยการถักรังไหมสีน้ำตาลขนาด 3×6 เซนติเมตร หนอนลอกคราบเป็นดักแด้อยู่ในรังไหม ระยะดักแด้ 1-6 เดือน และลอกออกเป็นตัวเต็มวัยประมาณช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงปลายปีและถึงต้นปีถัดไป และเมื่อยังเป็นดักแด้อยู่นั้น จะมีขนาดใหญ่มากจนกระทั่งในไต้หวันได้มีการนำไปทำเป็นกระเป๋า

เมื่อโตเต็มวัย มีความยาวจากปลายปีกข้างหนึ่งไปถึงข้างหนึ่งได้ประมาณ 1 ฟุต ลำตัวยาว 4-5 เซนติเมตร กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ลำตัวและอกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลแดง ปีกสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลส้มมีลวดลายโดยเฉพาะบริเวณเกือบกึ่งกลางปีก มีลักษณะบางใสรูปคล้ายใบโพ ซึ่งสามารถมองเห็นทะลุได้ซึ่งไม่ทราบถึงสาเหตุถึงการมี แต่มีการสันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับหลอกล่อสัตว์นักล่าซึ่งอายุในการเป็นตัวเต็มวัยจะมีมีเพียงสั้น ๆ ราว 1-2 สัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากมีปากที่กินอาหารไม่ได้ จึงใช้พลังงานจากที่สะสมไว้เมื่อครั้งเป็นหนอน ซึ่งตัวเต็มวัยของผีเสื้อหนอนใบกระท้อนจึงทำเพียงปล่อยฟีโรโมนเพื่อการผสมพันธุ์ วางไข่ และตายลงเท่านั้น โดยพบกระจายทั่วไปในอินเดีย จนถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนใต้ของจีน โดยพบมากในป่ากระท้อน.

ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี

Loading