วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ผู้ว่าฯราชบุรี”แจงรุกป่าสงวน เผยรอผลตรวจ “ปารีณา-แม่ธนาธร”

ราชบุรี ผู้ว่าราชบุรีแจงรุกป่าสงวน เผยรอผลตรวจ”ปารีณา-แม่ธนาธร”

เวลา 16.30 น. วันที่ 13 พ.ย.62 นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวถึง ความคืบหน้าการตรวจสอบที่ดินของ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ ว่า เมื่อวานได้เชิญป่าไม้จังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด และนายอำเภอจอมบึงมาซักถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากที่ปรากฎเป็นข่าว อีกทั้งรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ที่มหาวิทยาราชภัฎกาญจนบุรีหลังประชุม ครม.สัญจร ให้กระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปตรวจสอบ ซึ่งได้ทราบว่าทางต้นสังกัดของหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงคือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและกรมป่าไม้ โดยผู้บริหารจากส่วนกลางได้มีข้อสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการ และทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินไปตรวจสอบในบางส่วน เกี่ยวกับเอกสารหลักฐาน ส่วนทางป่าไม้ทราบว่าเมื่อวานนี้ได้ลงพื้นที่ไปแล้ว คงให้เป็นหน้าที่ของหน่วยที่มีหน้าที่เฉพาะ ส่วนทางฝ่ายปกครองในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานกรรมการการปฏิรูปที่ดินจังหวัด รวมทั้งนายอำเภอจอมบึงในฐานะประธาน กปอ. หรือกรรมการปฏิรูปที่ดินระดับอำเภอก็เป็นเสมือนปลายทางในกระบวนการพิจารณาต่างๆเกี่ยวกับเรื่องที่ดินในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุมัติ พิจารณา เพิกถอนให้ใช้สิทธิ์เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ คงต้องรอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบเพื่อความชัดเจนก่อน

ส่วนชื่อกรรมสิทธิ์ของที่ดินว่าเป็นของใครนั้นยังอยู่ระหว่างกำลังตรวจสอบ คือ บริเวณตรงนี้เป็นพื้นที่ดั้งเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี บางส่วนเป็นพื้นที่เป็นป่าเสื่อมโทรมหมดสภาพเป็นป่า ทางกรมป่าไม้เองได้กันคืน ได้ส่งมอบให้กับปฏิรูปมีการประกาศปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอจอมบึง เดิมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอ ต่อมาปี พ.ศ.2554 ได้มีแก้ไขเพิ่มเติมปฏิรูปที่ดินฉบับใหม่ แก้ไขการปรับปรุงแบ่งพื้นที่เป็นรายตำบล เพราะว่าเดิมมีการประกาศคุมเขตปฏิรูปทั้งอำเภอ จะไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ดั้งนั้นปี พ.ศ.2554 สำนักงานการปฏิรูป ส.ป.ก.ใหญ่จึงตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อราษฎรที่พึงจะมีสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ในที่ดินต่างๆจะได้ดำเนินการได้ โดยหลายพื้นที่ของราชบุรี มีทั้ง อ.จอมบึง อ.บ้านคา หลังจากมีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกานี้แล้วใครที่มีเอกสาร หลักฐาน มีข้อเท็จจริงต่างๆที่เหมาะสม ก็ไม่ขอออกเอกสารสิทธิ์มาก็เยอะ แต่ถ้ามีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาแบ่งพื้นที่เป็นบางส่วน ส่วนไหนที่ไม่ได้เข้าเขตปฏิรูป ถ้ามีการเดินสำรวจออกโฉนดของกรมที่ดิน สามารถนำรังวัดได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องมี สค. 1 ใบจองอะไรเลย ขอให้พยานบุคคลข้างเคียงชี้แนวเขต ผู้ปกครองท้องที่ยืนยัน ก็จะได้รับเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินไปได้เลย ซึ่งก็มีอยู่ด้วยในหลายพื้นที่ที่มีลักษณะแบบนี้ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบพอสมควร คงต้องให้เวลาแก่เจ้าหน้าที่ดำเนินการ

โดยคงต้องรอสำนักงาน ส.ป.ก.จังหวัดตรวจสอบหลักฐานอีกครั้ง ส่วน ภบท. เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีบำรุงท้องที่ คือเดิมผมเป็นหัวหน้าฝ่ายบำรุงท้องที่ กรมการปกครองมาก่อนรับผิดชอบส่วนนี้อยู่ คือ ถ้าใครเข้าไปทำกินใช้ประโยชน์ในที่ดินจะมีหน้าที่ที่จะต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ ทางชาวบ้านจะเรียกภาษีดอกหญ้า กับภาษีอีกตัวหนึ่งคือที่คนรู้จักมีหน้าที่ต้องเสียอยู่คือ ภาษีโรงเรือน กรณีเป็นที่อยู่อาศัย เป็นโรงงาน หรือ บริษัทห้างร้าน สิ่งปลูกสร้าง ส่วนที่ดิน ที่สวน ที่นา เรียกภาษีบำรุงท้องที่ ใครเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินจะมีหน้าที่ต้องเสียเพราะรัฐจะมีหน้าที่นำภาษีมาพัฒนาท้องที่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้เก็บภาษี ปีหนึ่งต้องไปชำระภาษีช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม

แต่กระทรวงมหาดไทยมีการกลับหลักการการเก็บภาษีบำรุงท้องที่กลับกันไปมาอยู่หลายครั้ง เนื่องจากว่าระยะหนึ่งมีการเก็บภาษีหมด ใครไปทำกินในที่ดินมีโฉนด นส. 3 ถ้ามีโฉนด นส. 3 ก็จะเก็บภาษีแน่นอน ส่วนใครที่เข้าไปทำกินในที่ดินของรัฐไม่ว่าเป็นที่สาธารณะ ที่ป่า ป่าสงวนแห่งชาติแล้วมาแจ้งกับ อบต. เทศบาล จะขอเสียภาษี สมัยก่อนกระทรวงมหาดไทยสั่งให้เก็บหมดถือว่าเข้าไปทำกินใช้ประโยชน์ ต่อมาก็มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่นำเอกสารหลักฐาน ภบท. 5 ไปอ้างอิงเพื่อประโยชน์ในการขอเอกสารหลักฐานกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ ก็จะเป็นปัญหากับภาครัฐที่เอาที่สาธารณประโยชน์ทำไม อบต.เก็บภาษี ไม่เห็นขับไล่ เพราะจะมีเจ้าพนักงานประเมินอาจจะไม่ทราบว่าที่อยู่ไหน เพราะมันไม่มีหมุดหลักเหมือนกับโฉนดที่ดินเพียงบอกแต่ว่าทิศเหนือจรดไหน ทิศใต้จรดทิศไหนไม่มีแนวเขต ทางเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่รู้ ทำให้อาจจะไปเก็บภาษีในพื้นที่ป่าที่ของหลวงก็ได้

ดังนั้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา กระทรวงมหาดไทยได้สั่งยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินของรัฐ หรือที่ดินที่ไม่มีหลักฐานเอกสารสิทธิ์ หลังจากปี 2557 จะไม่มีการออกใบ ภบท. 5 หรือเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในที่ที่ไม่ใช่โฉนด หรือ นส. 3 นส. 3 ก แต่ปัจจุบันกฎหมายภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ เลยเรียกว่ากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มใช้บังคับ ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 ต่อไปหลักการใหม่คือ จะเก็บภาษีหมด คือ หากใครทำประโยชน์ในที่ดินทำกินต่างๆ สำหรับการตรวจสอบพื้นที่ของส.ส.ปารีณา คงจะต้องรอการตรวจสอบทางกรมป่าไม้ สำนักงาน ส.ป.ก. จังหวัด ซึ่งทางส่วนกลางได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ และผู้บริหารระดับสูงได้สั่งการกำชับมาด้วย โดยคงมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาร่วมตรวจสอบเพื่อความชัดเจนด้วย

นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่ดินของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจนั้นทางจังหวัดได้มีการตั้งคณะกรรมการออกไปตรวจสอบร่วมกับผู้ปกครองท้องที่หลายหน่วยงาน รวมทั้งผู้ที่อ้างสิทธิ์ และผู้นำของท้องที่ที่ต้องการเรียกร้องป่าชุมชน ก็ได้ข้อสรุปว่าให้ศูนย์ป่าไม้ราชบุรีจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ซึ่งบริเวณส่วนที่เป็นภูเขาประมาณ 300 ไร่ ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน อีกประเด็นคือ ให้ ส.ป.ก.กับศูนย์ป่าไม้ไปรังวัดจัดทำแผนที่ที่แสดงแนวเขต พื้นที่จัดตั้งป่าชุมชน 1,050 ไร่ ซึ่งจะรวมกับพื้นที่ 300 ไร่ด้วยให้มีความชัดเจนเรื่องแนวเขต เพื่อจะได้ ส.ป.ก. จังหวัดก็จะกันคืนพื้นที่นี้ โดยเวลาป่าสงวนที่จะมีสภาพเสื่อมโทรม ทางกรมป่าไม้เห็นว่าหมดสภาพแล้วไม่ใช่ต้นน้ำลำธาร หรือเรียกว่าเขตป่าไม้ถาวร สมควรนำมาจัดประโยชน์ให้คนอยู่ เขาก็จะส่งมอบพื้นที่ให้กับ ส.ป.ก. ทาง ส.ป.ก.ก็จะไปดำเนินการจัดผังแบ่งแปลงให้ราษฎรได้ทำประโยชน์ต่อไป แต่ถ้าส่วนไหนป่าไม้ส่งมอบไปแล้ว ทาง ส.ป.ก. ลงพื้นที่ไปแล้วปรากฏว่ายังมีความสมบูรณ์อยู่ ตามกระบวนการขั้นตอนที่ตกลงกันระหว่างหน่วยงาน จะต้องกันพื้นที่คืนกลับให้แก่ป่าไม้ อย่างเรื่องนี้ก็เช่นกัน เพราะจะต้องดูว่าส่วนไหนที่จะสมบูรณ์อยู่ก็จะกันคืนให้กับป่าไม้ แต่ป่าไม้ก็ไม่ได้เอากลับมาเป็นป่าสงวน แต่จะนำมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลไป ส่วนพื้นที่ที่เหลือจากการกันคืนนั้นและยังอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและมีการกล่าวอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเป็น นส. 3 จำนวน 1 แปลง ใบจองหรือ นส. 2 จำนวน 7 แปลง เรื่องนี้ต้องให้เจ้าหน้าที่คือ ที่ดิน ป่าไม้ ส.ป.ก. ก็จะต้องไปตรวจพิสูจน์หลักฐานที่ว่ามานี้ถูกต้องหรือไม่อย่างไร คาดว่าจะทำให้ชาวบ้านที่เรียกร้องหวงแหนป่าชุมชนน่าจะมีความพึงพอใจได้ตามความต้องการของชาวบ้าน เป็นส่วนที่จะเป็นป่าชุมชนอยู่ประมาณกว่า 1,000 ไร่ มีความชัดเจนแล้ว

 

สุจินต์ นฤภัย(เต้)

 

Loading