วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

สคร.10 จับมือ”องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น”ปราบโรคพยาธิใบไม้ตับ

สคร.10จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปราบโรคพยาธิใบไม้ตับและระบบลูกโซ่ความเย็นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ปี 2563


เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ที่ห้องประชุมโรงแรมพรหมพิมาน อำเภอเมืองศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการแบบบูรณาการพัฒนาความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขาภิบาลและระบบลูกโซ่ความเย็นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ปีงบประมาณ 2563 โดยมีนายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี นำเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดศรีสะเกษและเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมประชุมเชิงบูรณาการ จำนวน 80 คน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ และอบรมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ได้รับความรู้เรื่องระบบลูกโซ่ความเย็นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ต่อไป
นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า โรคพยาธิใบไม้ตับเป็นโรคที่เกิดจากการกินปลาน้ำจืดที่ปนเปื้อนไข่พยาธิแบบสุกๆดิบๆ และยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี จากรายงานปี 2560 มีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดีทั่วประเทศ จำนวน 16,382 ราย คิดเป็น 25.1 ต่อแสนประชากร มากที่สุดภาคอีสาน 7,219 ราย (32.9 ต่อแสนประชากร) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 จังหวัดที่มีอัตราป่วยตายสูงสุด ได้แก่ ศรีสะเกษ 6.2 อุบลราชธานี 5.9 มุกดาหาร 5.5 ยโสธร 3.9 และ อำนาจเจริญ 3.5 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ค่อนข้างสูงซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียด้านแรงงานเศรษฐกิจและสังคม การที่ปลาน้ำจืดมีไข่พยาธิปนเปื้อน ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการจัดการสิ่งปฏิกูลยังไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล โดยในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 มีบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลที่ถูกสุขลักษณะเพียง 14 แห่ง ในจังหวัดยโสธร 5 แห่ง อำนาจเจริญ 3 แห่ง อุบลราชธานี ศรีสะเกษและมุกดาหาร จังหวัดละ 2 แห่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและอาจไม่บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี พ.ศ. 2559 – 2568 ที่ตั้งเป้าหมายจะลดความชุกของโรคในคนและในปลาไม่เกินร้อยละ 1 ลดอัตราตายจากมะเร็งท่อน้ำดีครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2578

ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า นับเป็นปัญหาที่สําคัญเช่นกัน โดยข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ปี 2558 – 2561 พบว่า การส่งตรวจหัวสัตว์ จำนวน 3,099 ตัวอย่าง พบผลบวก โรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 577 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 18.6 โดยจังหวัดที่พบหัวบวกในสัตว์มากที่สุด ได้แก่ ยโสธรและมุกดาหาร ร้อย ละ 28.7 รองลงมา อำนาจเจริญ (20.4) อุบลราชธานี (14.7) และ ศรีสะเกษ (13.4) ตามลำดับ สัตว์ที่ติดโรคส่วนใหญ่เป็นสุนัข (89.5) เป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ (59.8) ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน (49.9) และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค (36.3) จากการสุ่มสำรวจเมื่อ ปีงบประมาณ 2562 ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด/อำเภอและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พบว่า ระบบลูกโซ่ความเย็นวัคซีนในสัตว์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจมีการเก็บรักษาวัคซีนยังไม่ถูกต้อง ระดับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าของประชาชนพบว่า ถูกต้องเพียงร้อยละ 64.7 ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่จะนำไปสู่การ เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าได้

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ มีประชาชนเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันรณรงค์ป้องกันในเรื่องนี้ เนื่องจากประชาชนจังหวัดศรีสะเกษจะชอบกินปลาเนื่องจากว่า หาได้ง่ายจากแหล่งน้ำต่าง ๆ และประชาชนตามพื้นที่ชนบทจะชอบกินปลาที่สุกๆ ดิบๆ เนื่องจากเชื่อกันว่า มีรสชาติอร่อย จึงทำให้เชื้อพยาธิต่างๆ ที่ติดมากับเนื้อปลาเข้าไปสู่ร่างกายของประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิตจำนวนมาก การที่ประชาชนมีความเชื่อว่า หากเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับแล้วกินแมงจี่นูนเข้าไปแล้วก็จะหาย เพราะว่าแมงจี่นูนเข้าไปกินพยาธิใบไม้ตับนั้น เป็นความเชื่อที่ผิด ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับและพยาธิต่างๆ ที่มาจากเนื้อปลา จึงขอเตือนประชาชนชาวศรีสะเกษว่า ไม่ควรกินปลาดิบหรือกินเนื้อปลาที่สุกๆ ดิบๆ อย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคพยาธิต่างๆ ที่เป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้ และจะต้องช่วยกันตัดวงจรการแพร่ระบาดขอโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคพยาธิต่างๆ โดยไม่สูบเอาอุจจาระจากส้วม นำไปทิ้งตามข้างถนนหรือตามที่สาธารณะต่างๆ อย่างไม่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ไข่พยาธิต่างๆ แพร่ระบาดอีกต่อไป

ข่าว/ภาพ … บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

Loading