วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

ชลประทาน”ยันป้องกันนำ้เค็มทะลักเข้าพื้นที่ราชบุรี”บริหารนำ้ช่วงแล้งได้”

ราชบุรี ชลประทาน ยันป้องกันน้ำเค็มทะลักเข้าพื้นที่จ.ราชบุรี-บริหารน้ำช่วงแล้งได้

จากกรณีที่หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาเรื่องของน้ำเค็มที่ทะลักเข้าไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งเรื่องการอุปโภค บริโภค การเกษตร และเลี้ยงสัตว์ สาเหตุมาจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยทำให้ช่วงน้ำทะลุหนุน จะไม่มีน้ำจืดผลักดันน้ำเค็มให้ออกไปนั้น ในส่วนของ จ.ราชบุรี เป็นอีกจังหวัดหนึ่งซึ่งเคยเกิดปัญหาน้ำเค็มทะลักเข้าพื้นที่เมื่อ ปีพ.ศ.2558 ในช่วงนั้นส่งผลให้ประชาชนที่ปลูกพืชผักได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทานได้นำเอาปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ ในปีพ.ศ.2558 มาเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหา และเป็นแนวทางในการป้องกันน้ำเค็มทะลักเข้าตามคู คลองต่างๆ เนื่องจากจ.ราชบุรี มีพื้นที่ติดต่อกับสองจังหวัดที่อยู่ติดกับทะเล คือจ.สมุทรสาคร และจ.สมุทรสงคราม

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.63 ที่สนง.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก สำนักชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน นายเฉลิมวรรษ อินทชัยศรี นายช่างชลประทานอาวุโส และเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวกฯ เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องน้ำเค็มและปัญหาภัยแล้งว่า เรื่องปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่นั้น ทางสำนักชลประทานที่ 13 ได้นำปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่เมื่อ ปีพ.ศ.2558 มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางป้องกัน จนทำให้ในปีนี้ที่อื่นอาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มที่ทะลักเข้ามา แต่ในพื้นที่จ.ราชบุรี ขอยืนยันได้ว่าขณะนี้น้ำเค็มนั้นยังไม่ทะลักเข้ามาในพื้นที่ เพราะมีการสร้างประตูระบายน้ำในคลองสายหลักหลายแห่งที่ติดต่อกับพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม และจ.สมุทรสาคร เพื่อปิดกั้นน้ำเค็มทะลักเข้ามา และจะมีการตรวจวัดค่าความเค็มในน้ำทุกวัน ถ้ามีน้ำเค็มเข้ามามากเกินไป ทางชลประทานก็จะสามารถปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนในจ.กาญจนบุรี เข้ามาไล่น้ำเค็มออกได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ประกอบกับในช่วงนี้น้ำทะเลไม่หนุนจึงยังไม่มีผลกระทบอะไรกับประชาชน ทั้งในพื้นที่อ.ดำเนินสะดวก และอ.บางแพ จะเป็นสองอำเภอที่มีลำน้ำคูคลองเชื่อต่อกับอยู่กับสองจังหวัดที่ติดชายทะเลดังกล่าว

ส่วนเรื่องของภัยแล้งนั้น กรมชลประทานได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำไว้เป็นช่วงระยะเวลา คาดการณ์น้ำต้นทุนของเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณน้ำใช้การได้ ประมาณ 9,200 ล้าน ลบ.ม. วางแผนจัดสรรน้ำไว้ทั้งหมด 5,700 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นการเกษตร 3,180 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค บริโภค 460 ล้านลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศน์รวมทั้งระบบอื่นๆ 2,060 ล้าน ลบ.ม. สนับสนุนการเพาะปลูกประมาณ 2.07 ล้านไร่ คาดว่าตามแผนที่ทางกรมชลประทานวางไว้ จะทำให้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ราชบุรี ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก

จากนั้นนายเฉลิมวรรษ อินทชัยศรี นายช่างชลประทานอาวุโสฯ พร้อมด้วยนายเกียรติพงษ์ วาณิชย์เจริญ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมฯ และนายนรุตม์ เดชศิริ หัวหน้าส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 ฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบประตูระบายน้ำ ในลำคลองสายเชื่อมต่อพื้นที่อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถึงประตูระบายน้ำลำประโดง ต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้พบกับนายสัญญา อี้โค้ว อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 3 ต.ท่าคา อ.อัมพวา ที่กำลังใช้งานประตูระบายน้ำอยู่ นายสัญญา กล่าวว่าตนเป็นเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมในเขตรอยต่อ ระหว่าง จ.ราชบุรี และจ.สมุทรสงคราม บอกว่าตั้งแต่ทางชลประทานมาสร้างประตูกั้นน้ำเค็ม ทำให้น้ำเค็มนั้นไม่เข้ามาในพื้นที่ ถึงแม้จะมีมาบ้างแต่ก็น้อย ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร เพราะตนเองปลูกมะพร้าวน้ำเค็มจึงไม่มีผลอะไร แต่ถ้าเข้ามามากๆก็จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกพืชล้มลุก..

 

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี

Loading