วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

ราชบุรี”ห่วงตร.ฆ่าตัวตาย สภ.ทุงหลวงนำร่องตรวจสุขภาพจิตให้ตำรวจ”

ราชบุรี  ห่วง ตร.ฆ่าตัวตาย สภ.ทุ่งหลวงนำร่องตรวจสุขภาพจิตให้ตำรวจ

วันที่ 17 ม.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสถานีตำรวจภูธรทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จ.ราชบุรี พ.ต.อ.ธนรัชน์ สอนกล้า รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ราชบุรี เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมี พ.ต.อ.ศยาม อินทร์สุวรรณโณ ผกก.สภ.ทุ่งหลวง กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และมีทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลปากท่อ มาให้บริการในการตรวจสุขภาพพร้อมให้คำแนะนำในการปฎิบัติตัวสำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยง

ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่ผ่านมานั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีหนังสือบันทึกข้อความเรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ใจความสำคัญระบุว่า จากสภาพปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน ส่งผลต่อสภาพจิตใจของข้าราชการตำรวจ จนนำไปสู่ความเครียดกระทบต่อพฤติกรรมการดำเนินชีวิตจนเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ตร. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาสาเหตุ กำหนดวิธีการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ข้าราชการตำรวจเป็นรูปธรรม แล้วเสนอมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย) จึงได้กำหนดมาตรการ 3 ระยะ

1.ระยะเร่งด่วน ให้ผู้บังคับบัญชา ประเมินกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ความกดดันจากการปฏิบัติหน้าที่ ปัญหาส่วนตัวและครอบครัว ปัญหาทางบุคลิกหรือสุขภาพจิต ซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพ มีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน ซึ่งผู้บังคับบัญชาต้องทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ หากพบว่าผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ให้พิจารณาความบกพร่องตามคำสั่ง ตร. พร้อมกันนี้ ให้ทุกหน่วยงานในระดับ กก. และระดับสถานีตำรวจ แต่งตั้ง “คณะกรรมการสร้างเสริม คุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว” มีอำนาจหน้าที่วิเคราะห์ ศึกษาสาเหตุ ปัญหา และให้ความช่วยเหลือข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอย่างเร่งด่วน โดยมีโรงพยาบาลตำรวจ เป็นผู้จัดอบรมให้แก่คณะกรรมการฯ ประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดได้รับทราบในการเข้าถึง บริการทางด้านสุขภาพจิต

2.ระยะกลาง ให้ทุกหน่วยงานจัดการตรวจสุขภาพข้าราชการตำรวจประจำปี ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ภาวะการติดสุราเรื้อรังหรือสารเสพติด และมีนักจิตวิทยาร่วมตรวจด้วย ให้ บช.ศ.,รร.นรต. และศูนย์ฝึกอบรมประจำหน่วยงาน สอดแทรกเนื้อหาการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ ให้ จต. ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย) ของทุกหน่วยงานในการตรวจราชการประจำปี

3.ระยะยาว ให้โรงพยาบาลตำรวจจัดตั้งศูนย์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย) โดยจัดทำรายละเอียดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และแนวทางการดำเนินงานนำเสนอ ตร. พิจารณาต่อไป

พ.ต.อ.ศยาม อินทร์สุวรรณโณ ผกก.สภ.ทุ่งหลวง ได้เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากสภาพการทำงานของตำรวจในปัจจุบันซึ่งอยู่ภายใต้ภาวะการกดดันรอบด้าน จากสถิติย้อนหลัง7-8ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีตำรวจทั่วประเทศพบว่ามีอัตวินิบาตกรรมหรือการฆ่าตัวตายจำนวนหลายร้อยราย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้าราชการตำรวจอัตวินิบาตกรรมขึ้นมาโดยกำหนดให้ทุกสถานีให้ความสำคัญกับผู้ใต้บังคับบัญชา มีการสอดส่องพฤติกรรม มีการตรวจสุขภาพจิตให้กับข้าราชการตำรวจทุกนายในสถานี เพื่อที่จะได้ทราบปัญหาของแต่ละคนว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าต่อไปหรือไม่ ทาง สภ.ทุ่งหลวงจึงสนองนโยบายของผู้บังคับบัญชาโดยการจัดโครงการตรวจสุขภาพจิตให้ข้าราชการตำรวจ ที่สถานีตำรวจภูธรทุ่งหลวง ถือเป็นโรงพักแรกในกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี มีการตรวจสุขภาพจิตให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน โดยการทำแบบสอบถามรายบุคคลมีแพทย์โรงพยาบาลปากท่อมาให้ความรู้และนำแบบสอบถามมาให้ทำ ส่วนผลการตรวจสอบก็จะตรวจสอบภายในวันนี้ หากพบว่ามีข้าราชการตำรวจคนใดมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คุณหมอก็จะมีกาสอบถามพูดคุย และจ่ายยาให้ถือว่าเป็นผู้ป่วยในทันที ข้าราชการตำรวจที่นี่มีประมาณ 38 นาย จากการดูผิวเผินก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครที่มีแนวโน้มป่วยเป็นซึมเศร้า จึงจัดโครงการนี้ขึ้นและนำการตรวจสอบรายบุคคลภายในวันนี้

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี

Loading