วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

สถานการณ์ PM 2.5 สูงขึ้นต่อเนื่องเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

สมุทรปราการ – สถานการณ์ PM 2.5 สูงขึ้นต่อเนื่องเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
สมุทรปราการ – สมุทรปราการพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน จากสถานีตรวจวัด 5 จุด จาก 3 อำเภอ พบเกินมาตรฐาน 3 จุดของ 2 อำเภอ คือ อำเภอพระประแดง และอำเภอเมืองสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในขั้นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้ให้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ปราจีนบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และ เทศบาลนครสมุทรปราการ นำเครื่องพ่นสเปรย์น้ำเคลื่อนที่เร็ว (LUF 60) จำนวน 4 เครื่องและรถน้ำ มาทำสเปรย์น้ำเพื่อเป็นการดักจับฝุ่นละอองบริเวณริมเขื่อนเจ้าพระยาข้างศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากจุดดังกล่าวมีประชาชนมาใช้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น เพื่อออกกำลังกาย และบริเวณหอชมเมืองที่เป็นพื้นที่ชุมชนอีกหนึ่งจุด

และจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นคุณภาพอากาศเป็นรายวัน ของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุณมลพิษ พบว่าในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการมีปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งอยู่ในขั้นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยปริมาณที่ตรวจวัดพบว่าสูงสุดของจังหวัดสมุทรปราการ ที่ ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ ปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่ที่ 72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 154 รองลงมาอยู่ที่ ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง ปริมาณค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 69 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 147 และ ต.บางโปรง อ.เมืองสมุทรปราการ ปริมาณค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 55 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 111 ส่วนอีก 2 จุดคือ ต.ตลาด อ.พระประแดงและ ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง อยู่ในเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศปานกลาง ซึ่งเป็นการตรวจวัดตั้งแต่วันที่ 14 – 20 มกราคม 2563

สมุทรปราการ – ปัณรักษ์ สีหาวัตร

Loading