วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

ปศุสัตว์ประจวบฯเร่งคุมโรคปากเท้าเปื่อยฟาร์มโคนมหลังพบโคป่วยต่อเนื่อง”

ปศุสัตว์ประจวบฯ เร่งคุมโรคปากเท้าเปื่อยฟาร์มโคนมหลังพบโคป่วยต่อเนื่อง

วันที่ 22 มกราคม นายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบการระบาดทั้งในโคเนื้อและโคนมตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562โดยมีพื้นที่เกิดโรค อ.เมือง อ.หัวหิน และ อ.บางสะพานน้อย จำนวนโคเนื้อป่วย 691 ตัว ตาย 28 ตัว ปัจจุบันสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ส่วนการระบาดในฟาร์มโคนมพบว่ามีจำนวน 50 ฟาร์ม โคนมป่วย 637 ตัว ตาย 23 ตัว ปัจจุบันยังคงเหลือฟาร์มที่มีโคนมป่วยโรคปากและเท้าเปื่อย 10 ฟาร์ม ในพื้นที่ ต.คลองวาฬ และ ต.ห้วยทราย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยบริเวณรอบจุดเกิดโรค รัศมี 5 กิโลเมตร และรักษาสัตว์ป่วยตามอาการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มเติมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คาดว่าจะสามารถดำเนินการตามมาตรการสอบสวนควบคุมโรคได้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่เสี่ยงเพราะมีการเคลื่อนย้ายโคเข้าออกตลอดเวลา อาจจะมีการนำเชื้อโรคจากพื้นที่อื่นเข้ามา การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้กับโคถือเป็นมาตรการที่ดีที่สุดซึ่งกำหนดฉีดปีละ 2 ครั้ง โดยขณะนี้ได้รณรงค์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนมประสานเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอมาทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับโค พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรเข้มงวดการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อยานพาหนะที่เข้าออกฟาร์ม ส่วนฟาร์มที่พบโคนมป่วยจะงดการรับซื้อน้ำนมดิบชั่วคราว” นายยุษฐิระ กล่าว

ปศุสัตว์ จ.ประจวบคีรีขันธ์กล่าวอีกว่า สำหรับโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบการระบาดในโค กระบือ แพะ แกะ และสุกร โดยพบว่าโรคนี้สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองหรือแผล บริเวณลิ้น ช่องปาก ริมฝีปาก เต้านมรวมทั้งไรกีบ ส่งผลให้สัตว์มีน้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก โดยทั่วไปโรคปากและเท้าเปื่อยมักไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ที่โตเต็มวัยตาย แต่สัตว์อาจตายได้จากภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อแบคทีเรียหรือจากปัจจัยอื่นๆ เนื่องจากสัตว์เบื่ออาหารและอ่อนแอ รวมทั้งโรคนี้อาจสร้างความรุนแรงและเป็นสาเหตุการตายในลูกสัตว์ได้เนื่องจากเชื้อไวรัสทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย

พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

Loading