วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

กาญจนบุรี”เร่งออกกฏหมายปัองกันปราบปรามการทรมานและบังคับคนสูญหาย”

กาญจนบุรี เร่งออกกฎหมายป้องกันปราบปรามการทรมานและบังคับคนสูญหาย

กาญจนบุรี เวทีวิชาการเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจัดโดยสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน เสนอให้รัฐบาลเร่งออกป้องกันปราบปรามการทรมานและบังคับคนสูญหาย เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญและมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

วันนี้ 01 ก.พ. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวกาญจนบุรี กล่าวว่า เราต้องป้องกันคนสูญหาย หรือป้องการการทรมาน เพราะว่าในสมัยก่อนเรายังใช้การทรมานเพื่อให้คนรับสารภาพ แต่ปัจจุบันไม่สามารถกระทำได้แล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีขั้นตอน การดำเนินการควบคุมตัวผู้กระทำผิดตามขั้นตอน เพื่อป้องกันการได้มาซึ่งคำรับสารภาพที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การซ้อมทรมานและการบังคับให้สูญหาย อาจจะเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ดังเช่น นายอิสะมาแอ แตะ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ ถูกจับไปค่ายทหาร ทั้งวันอยู่ในห้อง หยดน้ำใส่บนศีรษะ เอาขวดน้ำตีหัว ทำไปเรื่อยอย่างต่อเนื่อง นำตัวผมไว้ใต้เก้าอี้ เจ้าหน้าที่นั่งข้างบน เจ้าหน้าที่มัดมือไว้ เอาสายไฟมาจี้ที่ฝ่าเท้า ประมาณ ๒-๓ นาที สลับไปเรื่อย อยู่ในค่ายทหาร ๙ วัน มีนักศึกษาและทนายความไปเรียกร้องจึงได้รับการปล่อยตัว จนมีการฟ้องคดีสู่ศาล ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้มีการเยียวยาเป็นเงิน แต่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำยังไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด

นายสมศักดิ์ ชื่นจิตร ซึ่งเป็นพ่อเของเหยื่อการซ้อมทรมาน เล่าว่า ลูกชายเรียนอยู่ชั้น ม.6 ม ถูกตำรวจจับตัวไป อ้างว่าไปชิงทรัพย์เป็นสร้อยคอทองคำ ลูกชายปฏิเสธไม่รับ เพราะไม่ได้ทำ เจ้าหน้าที่ใช้ถุงขยะสีดำครอบหัวรัดไว้คอ ไม่ให้มีอากาศหายใจ จนชักกระตุก ลูกชายดิ้นสุดแรงเพื่อมีอากาศหายใจ เจ้าหน้าที่ใช้ถุงดำหลายชั้น ต่อมาจับผู้กระทำความผิดตัวจริงได้ จึงมีการร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำการทรมาน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ส่งผลกระทบทางจิตใจด้วย ส่งผลให้ลูกชายเกิดอาการซึมเศร้า จนไม่สามารถเรียนหนังสือได้ จึงอยากให้มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อจะได้ไม่มีผู้เป็นเหยื่อเหมือนที่ครอบครัวตนเองได้รับ

นายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า รัฐบาลโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้มีการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้น อีกทั้งภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคมก็มีร่างกฎหมายของภาคประชาชน เพื่อผลักดันให้สภามีการพิจารณาด้วยเช่นกัน ปัจจุบันนี้กฎหมายอาญาไม่มีข้อหาเกี่ยวกับการอุ้มหาย และการทรมาน จำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่กระทำการอันมิชอบด้วยประการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องการกับการทรมานและการอุ้มหาย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเพิ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 จึงควรรีบออกกฎหมายฉบับนี้มาบังคับใช้โดยเร็ว เพราะปัจจุบันยังมีการซ้อมทรมานหรือบังคับให้สูญหายอยู่ทุกวัน ระหว่างกฎหมายไม่ออกมา ผู้กระทำผิดก็ยังลอยนวลอยู่ และมีโอกาสกระทำผิดซ้ำได้ตลอดเวลา สังคมก็ยังไม่มีความปลอดภัย.

ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี

Loading