วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

กมธ.วิทย์ฯ”จับมือ สกสว.หนุนจันทบุรี”ตั้งเป้าเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 1 หมื่นบาท”ต่อครอบครัวภายใน 6 เดือน”

กมธ.วิทย์ฯ จับมือ สกสว. หนุน ‘จันทบุรี’  ตั้งเป้าเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 1 หมื่นบาท  ต่อครอบครัว ภายใน 6 เดือน

ณ อบจ.จันทบุรี คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทางการผลักดันให้จันทบุรีเป็นเมืองแห่งยุทธศาสตร์มหานครผลไม้ มีอุตสาหกรรมอัญมณีและอุตสาหกรรมประมงที่เข้มแข็ง ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีนายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการศึกษาดูงานครั้งนี้

นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้กล่าวต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดจันทบุรี ที่ต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรคุณภาพ ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ การเป็นเมืองท่องเที่ยวนิเวศชุมชน และประตูการค้าชายแดนสู่ประชาคมอาเซียน โดยปัจจุบันจันทบุรี ถือเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนทางภูมิประเทศสูง ทำให้เกิดความสำเร็จเชิงรายได้จากการทำประมง การทำอัญมณี การทำรังนก ส่งออกสินค้าเกษตรจนได้รับฉายา “มหานครแห่งผลไม้” และตลาดที่เติบโตส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการมีล้งจีน โจทย์สำคัญของจังหวัดคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน และแก้ปัญหาในมิติต่างๆ 

ด้านศาสตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทีมคณะกรรมการฯ มีเป้าประสงค์ที่จะผลักดันองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตรของ จ.จันทบุรี ให้มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ เพิ่มมูลค่าให้มังคุดเกรด 2 เป็นต้น โดยคณะกรรมาธิการฯ จะร่วมกันทำงานกับกระทรวง อว. และเชื่อมโยงการทำงานกับพื้นที่ เพื่อเป้าหมายหลักคือ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นครอบครัวละ 10,000 บาทต่อเดือน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยคณะกรรมาธิการฯ จะเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย ส่วนราชการ จังหวัด ให้ทำงานอย่างบูรณาการกัน สำหรับในส่วนของผลไม้ต้องใช้นวัตกรรมมาช่วยในส่วนของ 1) คุณภาพผลผลิต 2) เครื่องมือและเทคโนโลยีลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 3) การเพิ่มมูลค่าให้ส่วนอื่นๆของผลไม้ เช่น เปลือกมังคุด เปลือกทุเรียน ฯลฯ 4) การจัดการระบบพันธสัญญา/ระบบล้ง 5) สร้างการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่มีศักยภาพ 6) หนุนเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมถึงจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการถ่ายเทข้อมูลความรู้ด้านผลไม้ ไปสู่เกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จริง 

ในขณะที่ ผศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. ให้ข้อมูลว่า แนวทางการทำงานของ สกสว. ตอนนี้คือ การสร้างระบบที่รวบรวมข้อมูล และสังเคราะห์ข้อมูลความรู้ ส่งต่อผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้คณะทำงาน ได้ข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ขับเคลื่อนงานต่อไป

ที่มา

Kannika Butphrom (Pui)

 

Loading