วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

กนกวรรณ”ดันงาน กศน.อุดร หนึ่งในต้นแบบการขับเคลื่อนงานเพื่อประชาชน”

“กนกวรรณ” ดันงาน กศน.อุดร หนึ่งในต้นแบบการขับเคลื่อนงานเพื่อประชาชน

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. และดร.พะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ ลงพื้นที่ติดตามการนำนโยบาย กศน. สช. WOW WOW ไปสู่การปฏิบัติ และการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” จังหวัดอุดรธานี ซึ่งที่นี่มีโครงการ “กศน.อุดรสัญจร ออนซอนการอ่าน”และกิจกรรมรถโมบาย ห้องสมุดเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของ กศน. ที่โดดเด่นและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี รวมถึงการนำเสนอผลงานการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาด้านทักษะอาชีพ และเศรษฐกิจพอเพียง จากศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน การจัดการศึกษาด้านทักษะชีวิต ด้านเศรษฐกิจพอเพียง  การจัดการศึกษาพื้นฐาน การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย และการพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาเรียนรู้สู่การจัดการเรียนการสอนด้านต่างๆ โดยมีนายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการจังหวัดอุดรธานี นายวรินทร์ วิรุณพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดอุดรธานี ตลอดจนผู้บริหาร ครู และนักเรียนนักศึกษา กศน.ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมต้อนรับ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ณ กศน.จังหวัดอุดรธานี

ดร.กนกวรรณ กล่าวในการมอบนโยบาย ตอนหนึ่งว่า “ การลงพื้นที่ในวันนี้รู้สึกประทับใจ กับผลการดำเนินงานของที่นี่ที่สามารถตอบโจทย์การจัดการศึกษาได้คลอบคลุมทุกมิติ นับเป็นความสำเร็จสำนักงาน กศน. อุดรธานี ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา ด้วยการจัดการให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาของจังหวัดอุดรธานีที่เน้นการมีส่วนร่วมที่ดีจากทุกเครือข่ายการศึกษาอย่างเข้มแข็ง ในหลายๆด้าน และคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของการพัฒนาเชิงพื้นที่ ตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดอุดรธานี ในการเป็น “ศูนย์กลางการค้า การลงทุน ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภายในปี 2580” ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าในการประสานความร่วมมือใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่ถูกยุบรวม สำนักงานกศน.จังหวัดอุดรธานี ได้มีการดำเนินการภายในจังหวัดที่มีโรงเรียนที่ถูกยุบรวมและประสานขอใช้พื้นที่ เพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย กศน. ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นรูปธรรม โดยจากการรายงานทราบว่าได้ขอใช้พื้นที่ ทั้งหมด 5 แห่ง และตอนนี้ดำเนินการเข้าใช้พื้นที่แล้วจำนวน 3 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านหนองกวาง อำเภอกุมภวาปี (กศน.ที่ใช้พื้นที่ กศน.ตำบลสีออ) โรงเรียนบ้านกลางน้อยเหล่ามะแงว อำเภอบ้านผือ (กศน.ที่ใช้พื้นที่ กศน.ตำบลจำปาโมง)และโรงเรียนบ้านโพน อำเภอบ้านผือ (กศน.ที่ใช้พื้นที่ กศน.ตำบลโนนทอง) สิ่งเหล่านี้คือ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่เราจะได้ก้าวต่อไปในการพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในพื้นที่ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนให้เกิดประโยชน์ได้อย่างหลากหลายตามนโยบาย Good Place ต่อไปอย่างเต็มที่ และสำหรับประเด็นอื่นๆที่ต้องดำเนินการต่อไปในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณและขวัญกำลังใจ รวมทั้งสวัสดิการสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน ผู้สอนเด็กเร่ร่อน ครูผู้สอนคนพิการ ฯลฯ นั้น ตนมีตั้งใจที่จะช่วยทลายข้อจำกัดในการทำงานให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้มอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการ กศน.และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมศึกษาหาแนวทางจัดสรรงบประมาณและสนับสนุนสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งทั้งข้อดี ข้อเสีย ในทุกๆด้านโดยยึดความถูกต้อง และประโยชน์ของคนทำงานเป็นหลัก

นอกจากนี้ได้ให้สำรวจและหารือแนวปฏิบัติของหน่วยงานอื่น ๆ ประกอบการพิจารณา เพื่อเลือกทางเหมาะสมที่ดีที่สุด เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ สำหรับผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนให้มากที่สุด สำหรับการจัดสรรงบประมาณนักศึกษาผู้พิการ อยู่ระหว่างการเสนอขอปรับงบประมาณสนับสนุนในอัตราเดียวกับ สพฐ. ซึ่งจะต้องติดตามความก้าวหน้ากันต่อไป และสำหรับห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”ได้มอบหมายให้กศน. สำรวจดูว่าหนังสือประเภทไหนที่ประชาชนสนใจ เข้ามาอ่านหรือยืมมากที่สุด รวมทั้งเพศและช่วงอายุเท่าไหร่เข้าใช้บริการมากที่สุด ให้จัดหาหนังสือและบริการโดยยึดความต้องการและความสนใจของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ สำหรับด้านการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพ กศน. ต้องวางแผนการจัดการศึกษาว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกศิษย์หรือนักศึกษาได้มีอาชีพเป็นของตนเอง หรือส่งเสริมให้ลูกศิษย์หรือนักศึกษาได้มีอาชีพเสริม หรือให้นำเอาสิ่งที่คิดค้นไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำรงชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ดร.กนกวรรณ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ ตนมีความตั้งใจและ ต้องการที่จะให้ครู กศน.สามารถปฏิบัติการหน้าที่ของตนเองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในเรื่องการศึกษาและพัฒนาอบรมต่อเพื่อให้มีใบประกอบวิชาชีพ โดยจะหารือกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว และในส่วนของการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการนั้น อยากให้ กศน.ศึกษาและหาแนวทางร่วมกับหน่วยงานหรือศูนย์ดูแลคนพิการโดยตรง เพื่อหาแนวทางมาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนคนพิการใน กศน.ให้ครอบคลุมต่อไป ซึ่งหากพื้นที่มีประเด็นปัญหาใดที่ อยากให้กระทรวงศึกษาธิการช่วยเหลือเพื่อนำไปการพัฒนาการจัดการศึกษาที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ขอให้ส่งเข้ามาได้ที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือถึงตนโดยตรงก็ได้ ทั้งนี้ในนามของรัฐบาล และ กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหาร ทุกท่าน พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนด้านการศึกษาของจังหวัดอุดรธานีและทุกๆพื้นที่อย่างเต็มความสามารถ ตามนโยบาย ของ รัฐบาล ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะจับมือเหนื่อยไปด้วยกัน และทลายทุกข้อจำกัดเพื่อพัฒนางานให้ดีกว่าเดิม” ดร.กนกวรรณ กล่าว!!

ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ : อนงค์ สีอ่อนแสง อิทธิพล รุ่งก่อน!!

Loading