วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

จี้ตื่นตัว”เฝ้าระวังหนอนซอนใบมะเขือเทศโผล่ไทย”ป้องภาคเกษตรและอุตสาหกรรมกระทบหนัก”

26 ก.พ. 2020
43

จี้ตื่นตัวเฝ้าระวังหนอนชอนใบมะเขือเทศโผล่ไทย ป้องภาคเกษตรและอุตสาหกรรมกระทบหนัก

กรมวิชาการเกษตร  ส่งสัญญาณหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศจ่อชายแดนไทยแล้ว  สั่งด่านตรวจพืชเอกซเรย์สินค้านำเข้าจากเพื่อนบ้านเข้มข้น   พร้อมติดกับดักฟีโรโมนทุกด่านดักจับตามช่องทางผ่านชายแดน  อุดทุกช่องทางระบาด  กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมเฝ้าระวัง  ย้ำหากพบเสียหายหนักทั้งภาคเกษตร  อุตสาหกรรมผลิตซอส   ผลผลิตไม่เพียงพอต้องพึ่งนำเข้า   

นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ในช่วงฤดูปลูกมะเขือเทศรอบใหม่ขอแจ้งเตือนให้เกษตรกร  โรงเรือนผลิตกล้ามะเขือเทศ  และจุดรวบรวมผลผลิตและตลาด เฝ้าระวังและติดตามการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศเพิ่มมากขึ้น  เนื่องจากสถานการณ์ล่าสุดได้รับรายงานการระบาดของศัตรูพืชร้ายแรงชนิดนี้ในประเทศเพื่อนบ้านและพื้นที่การระบาดดังกล่าวอยู่ใกล้ชายแดนประเทศไทยมากขึ้น  โดยเฉพาะจังหวัดตาก เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกมะเขือเทศที่สำคัญของไทยที่เสี่ยงต่อการะบาดต้องเฝ้าระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ  นอกจากนี้ยังต้องติดตามเฝ้าระวังแหล่งปลูกมะเขือเทศของไทยที่ผลิตเพื่อบริโภคสดและเข้าโรงงานในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  รวมทั้งแหล่งผลิตเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ใช้ในประเทศและส่งออกด้วย

ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช  กรมวิชาการเกษตร เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าตามแนวชายแดน   โดยตรวจพืชต้องสงสัยที่มีโอกาสเป็นแหล่งอาศัยของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ   พืชอาศัยและผลิตผลพืชที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยต้องสุ่มตรวจให้ละเอียด เพื่อป้องกันศัตรูพืชชนิดนี้ติดปนเปื้อนเข้ามา เช่น ไข่ของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ  ซึ่งมีลักษณะเป็นฟองเดี่ยวขนาดเล็กบนใบพืช  หนอนหรือรอยทำลายบนใบพืช  ดักแด้ที่อาจติดมากับวัสดุปลูก   รวมทั้งต้องหมั่นตรวจกับดักฟีโรโมนที่ได้สั่งการให้สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร นำไปติดตั้งไว้บริเวณช่องทางผ่านชายแดนจำนวน 48 ด่านทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง   

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  สำหรับเกษตรกรแนะนำให้ใช้ต้นกล้ามะเขือเทศและวัสดุปลูกที่ปลอดจากหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ   และตรวจหาการทำลายโดยสำรวจร่องรอยการทำลายบนใบมะเขือเทศ ผล ดอก และยอด  หรือดักจับผีเสื้อโดยใช้กับดักฟีโรโมนดักจับตัวเต็มวัยเพศผู้เพื่อลดประชากรผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศ จำนวน 6 – 8 กับดักต่อไร่  อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้จะยังไม่พบการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ  กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำคำแนะนำการป้องกันกำจัดศัตรูพืชร้ายแรงชนิดนี้ไว้พร้อมแล้ว  โดยหากตรวจพบผีเสื้อหรือการทำลายของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศแนะนำให้ใช้สารชีวภัณฑ์เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส สายพันธุ์เคอร์สตากี้  อัตรา 80 กรัม / น้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4 – 7 วัน เมื่อพบการระบาดในระยะเริ่มต้นหรือระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต  

ส่วนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่  อีมาเมกติน เบนโซเอต อัตรา 20 มิลลิลิตร / น้ำ 20 ลิตร  คลอแรนทรานิลิโพรล อัตรา20 มิลลิลิตร / น้ำ 20 ลิตร  สไปนีโทแรม อัตรา 20 มิลลิลิตร / น้ำ 20 ลิตร  อินดอกซาคาร์บ อัตรา 30 มิลลิลิตร / น้ำ 20 ลิตร ลูเฟนนูรอน อัตรา 30 มิลลิลิตร / น้ำ 20 ลิตร  โดยพ่นสารกำจัดแมลงทุก 4 – 7 วัน ติดต่อกัน 2 – 3 ครั้ง และใช้กลุ่มสารสลับกันอย่างน้อย 2 กลุ่ม ใน 1 รอบวงจรชีวิตคือ 30 วัน และเว้นระยะไม่ใช้สารกลุ่มเดิมในรอบวงจรชีวิตถัดไป  เพื่อลดการสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง   

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวต่อไปว่า  หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศเป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญสร้างความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจในหลายประเทศ  หากพบเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศจะส่งผลกระทบให้ปริมาณผลผลิตลดลง คุณภาพไม่ได้มาตรฐานไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือหากระบาดมากจะทำให้ผลผลิตเสียหายเกือบ100 % ผลผลิตมะเขือเทศลดลง ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น   รวมทั้งกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงงานผลิตซอสมะเขือเทศอาจต้องมีการนำเข้าผลมะเขือเทศ   

 

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศ   เนื่องจากหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศเป็นศัตรูพืชกักกันของประเทศไทยและอีกหลายประเทศ   หากเกิดการระบาดจะส่งผลให้การเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้าประสบปัญหามากขึ้น   หรืออาจไม่สามารถส่งออกผลผลิตมะเขือเทศในรูปผลสดได้เลย  จึงขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันเฝ้าระวัง   โดยหากพบแมลงศัตรูพืชที่มีลักษณะคล้ายหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ  สามารถแจ้งได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  สายด่วน 061-415-2517

Loading