วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

นครพนม”ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลและถวายราชสดุดีมหาจักรีบรมราชวงศ์ เนื่องในวันจักรี

นครพนม ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลและถวายราชสดุดีมหาจักรีบรมราชวงศ์ เนื่องในวันจักรี


วันที่ 6 เมษายน 2563 ที่หอเฉลิมพระเกียรติพระราชวงศ์จักรี ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางสาวจินตนา ชิ้นปิ่นเกลียว รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม นำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ ตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ในจังหวัดนครพนม ร่วมประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล วางพานพุ่มดอกไม้สดและถวายราชสดุดี โดยพระสงฆ์สมณศักดิ์ จำนวน 10 รูป เจริญชัยมงคลคาถา เบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ จากนั้นถวายภัตตาหาร (ปิ่นโต) และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ 10 รูป


เนื่องในวันจักรี เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อพระปฐมบรมจักรีวงศ์ และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันน้อยใหญ่นานัปการเพื่อพสกนิกรชาวไทย ท่ามกลางการเว้นระยะความปลอดภัย Social distancing ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วันจักรี หรือวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325


ทรงปกครองปวงชนชาวไทยให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขเป็นแบบอย่างที่พระมหากษัตริย์ไทยของพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทสืบต่อกันมาโดยลำดับ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ ต่อมาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระบรมชนกนาถ จนกระทั่งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลจึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายน ว่า “วันจักรี”

สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมราชจักรีวงศ์แต่ละพระองค์ ล้วนทรงพระปรีชาพิเศษสามารถในพระราชกิจเหมาะสมแก่กาลสมัย เริ่มตั้งแต่พระปฐมกษัตริย์ได้ทรงปลูกฝังความมั่งคั่งให้แก่ราชอาณาจักรไทย รัชกาลในลำดับต่อมาก็ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยการสร้างสรรค์วัฒนธรรมทุกสาขา ทรงเชิดชูพระบวรพุทธศาสนาและสั่งสมความมั่งคั่งสมบูรณ์แก่ประเทศสืบช่วงกันตามลำดับ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยิ่งตะหนักชัดในดวงจิตของพสกนิกรชาวไทยทุกผู้ทุกนาม พระองค์ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจ ครองแผ่นดินด้วยความเป็นธรรม ทรงนำความเรียบร้อย ร่มเย็น มาสู่อาณาประชาราษฎร์ ยาวนานถึง 70 ปีแห่งการครองราชย์สมบัติ ตราบจนรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรำมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงลำบากตรากตรำเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนแม้ในถิ่นทุรกันดารอันห่างไกลอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได

ภาพ/ข่าว หนุ่ม นคร เทพพนม รายงาน

Loading