วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ปลุกเสก”ตาแหลว 7 ชั้น”ป้องกันโควิด -19 แจกชาวบ้าน

พะเยา – ปลุกเสก “ ตาแหลว 7 ชั้น “ ป้องกันโควิด 19 แจกชาวบ้าน


วันนี้ ( 6 เมษายน 2563 ) ที่วัดพระธาตุขิงแกง อ.จุน จ.พะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในอำเภอที่มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้มีการระดมพระสงฆ์ สามเณร ร่วมกันสร้าง “ ตาแหลว “ เจ็ดชั้น เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการต่อสู้เพื่อเอาชนะโควิด19 ตามความเชื่อของทางล้านนา ที่เชื่อว่า ตาแหลวสามารถขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกจากตัวและบ้านได้ และเชื่อว่าสามารถป้องกันไม่ให้ความชั่วร้าย โรคภัยเข้าไปหาคนในบ้านได้
พระสัตยา สจฺจาภิจินฺโณ เปิดเผยว่า “ ตาแหลว “ หรือตาเหยี่ยวในภาษากลาง เป็นเครื่องรางตามความเชื่อของชาวล้านนามาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล การทำตาแหลวในครั้งนี้การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมที่คนล้านนาเขาทำกันในยามที่บ้านเมืองมีความเดือดร้อนมีโรคภัยไข้เจ็บและต้องการสืบทอดขนบวัฒนธรรมของคนล้านนาไม่หายสูญ “ต๋าแหลว” เป็นเครื่องหมายทางพิธีกรรมตามความเชื่อของคนล้านนา เพื่อแสดงอาณาเขตที่มีเจ้าของ เขตหวงห้าม และยังเชื่อว่าจะสามารถปกป้องรักษาพื้นที่นั้นให้คลาดแคล้วจากภัยพิบัติทั้งปวง ปกติตาแหลวมักจะใช้ในพิธีสำคัญอันเป็นมงคล เช่น พิธีสืบชะตา ขึ้นบ้านใหม่ หรือประดับไว้ตรงหน้าบ้าน วงกบประตูด้านบน หรือทางเข้าบ้าน เพื่อดักความชั่วร้าย สิ่งอัปมงคล ไม่ให้เข้าไปในบ้าน และถ้ามีสิ่งชั่วร้าย อัปมงคลอยู่ในบ้านก็จะถูกขับไล่ออกไป


ด้านพระไพสิฐ ภูริญาโณ ตาแหลวจะสานด้วยไม้ไผ่ มัดด้วยด้าย หญ้าคา สายสิญจน์และฝักส้มป่อย ชาวล้านนามีชื่อเรียกตาแหลวชนิดนี้หลายชื่อเช่น ตาแหลวเจ็ดจั้น ตาแหลวใบคา ตาแหลวคาเขียว ตาแหลวหญ้าคา เป็นต้น การทำตาแหลวเจ็ดชั้นในครั้งก็เป็นกุศโลบายเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านได้มีสติและระลึกได้ถึงเภทภัยและการป้องกันตนเองและครอบครัวให้พ้นจากการติดเชื้อ โดยตาแหลวทั้งหมดก็ทำพิธีปลุกเสกตามตำราของทางเหนือและจะถูกแจกจ่ายไปให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป
(ภาพ/ข่าว สราวุธ ตั้งประเสริฐ ;ขอบคุณข้อมูล/ ดวงเดือน เวียงลอ )

Loading