วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

คนพะเยาไม่ทิ้งฮีต”ประเพณีเก่าแก่”สอนลูกหลานให้ทำไม้กำ๊ศรี สืบทอดศิลปวัฒนธรรมบรรพชนล้านนา”

พะเยา – คนพะเยาไม่ทิ้งฮีต(ประเพณี) สอนลูกหลานให้ทำไม้ก๊ำศรี สืบทอดศิลปวัฒนธรรมบรรพชนล้านนา


วันนี้ ( 12 เมษายน 2563 ) ที่ชุมชนบ้านสันขะเจ๊าะ ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา ได้มีการสอนลูกหลานให้ทำ “ ไม้ก๊ำศรี “ ( ไม้-ก๊ำ-สี / ไม้-ก๊ำ-สะ-หรี ) เพื่อนำไปใช้ค้ำต้นศรีหรือต้นโพธิ์ตามความเชื่อทางคติชนวิทยาของชาวไทยล้านนาในวันพญาวันหรือตรงกับวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี โดยมีความเชื่อสองนัย คือเพื่อรักษาคำจุนพระพุทธศาสนา และเป็นการค้ำจุน เกื้อหนุน ชีวิตของผู้นำไม้ค้ำศรีถวายให้เจริญรุ่งเรือง มีอายุยืนยาว
นายหาญ ธรรมโม อายุ 69 ปี ชาวบ้านสันขะเจ๊าะ ซึ่งมีความสามารถทางด้านช่าง หรือ สล่า หลายด้าน โดยเฉพาะงานฝีมือที่เป็นศิลปวัฒนธรรมทางเหนือ เช่นการตัดกระดาษเป็นลวดลาย งานไม้ เป็นต้น ในทุกๆปีจะมีลูกหลานจาก จ.ชลบุรี และ จ.นครพนม มากราบ – ดำหัว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมือง และทุกๆปีจะสอนให้ลูก หลาน ลูกเขยและลูกสะใภ้ ทำขนมจ๊อก ( ขนมเทียน ) ตามแบบฉบับคนเหนือ สอนตัดกระดาษทำลวดลายเพื่อติดไม้ค้ำศรีและนำไปประดับวัดวาอารามให้มีสีสันและลวดลายที่สวยงาม สดใสให้สมกับเป็นวันดีวันขึ้นปีใหม่ทางเหนือ


นายหาญ กล่าวต่อไปว่า ไม้ที่จะนำมาทำไม้ค้ำศรีนั้นจะเป็นไม้อะไรก็ได้ ขนาดอยู่ที่ความชอบของแต่ละบุคคล ครอบครัว ที่สำคัญของให้มีแง่มหรือง่าม เป็นอันใช้ได้ ส่วนความยาวที่นิยมคือประมาณ 2 เมตร ไม่ใหญ่มาก สามารถเดินแบกเพื่อนำไปวัดได้ ศิลปวัฒนธรรมพวกนี้ ถ้าคนรุ่นเก่าไม่ยอมถ่ายทอดหรือไม่มีความรู้ในการทำ มันจะหายสาบสูญไปจากคนเมือง จึงพยายามสอนให้ลูกหลานทุกๆคนทำเป็น เพื่อจะได้ถ่ายทอดสืบต่อรุ่นหลาน เหลน โหลน ต่อไป
( ภพ/ข่าว สราวุธ ตั้งประเสริฐ พะเยา )

Loading