เกษตรกร”นราธิวาส -ราชบุรี”คว้ารางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ”

08 พ.ค. 2020
56

เกษตรกรนราธิวาสและราชบุรีคว้ารางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ

กรมวิชาการเกษตร เฟ้นหาเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขา GAP และเกษตรอินทรีย์ ประจำปี2563  มติเอกฉันท์มอบรางวัลเกษตรกรสวนชมพู่ จ.ราชบุรี  และสวนลองกอง จ.นราธิวาส  เผย เกษตรกรยึดหลักผลผลิตมีคุณภาพ  ต้องมาจากการจัดการสวนที่เป็นระบบ  พร้อมมุ่งมั่นรักษามาตรฐานความปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค  

นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า ในทุกปีกรมวิชาการเกษตรจะพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นที่ผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์  เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ยึดถือแนวทางการปฏิบัติงานเป็นแบบอย่าง  เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในปี 2563 นี้กรมวิชาการเกษตรได้คัดเลือกให้นายสมชาย เจริญสุข เกษตรกรเจ้าของสวนชมพู่เจริญสุข บนพื้นที่ 15 ไร่  ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี  ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ  สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP)  โดยนายสมชายได้ทำสวนชมพู่ทับทิมจันทร์ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลิตชมพู่ให้มีรสชาติอร่อย ผลผลิตมีคุณภาพ คงไว้ซึ่งมาตรฐาน ภายใต้แนวความคิดพัฒนาและแบ่งปันความรู้

 

นายสมชายทำสวนชมพู่โดยมีแนวคิดที่จะยกระดับผลผลิตของสวนตนเองให้สินค้าได้รับความเชื่อมั่นทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัย โดยเชื่อว่า“ผลผลิตพรีเมี่ยม ต้องมาจากการจัดการสวนที่เป็นระบบ” ดังนั้นในปี 2554 จึงได้สมัครขอการรับรองมาตรฐาน GAP กับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี กรมวิชาการเกษตร  ซึ่งการได้รับรองมาตรฐาน GAP ทำให้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า  และเพิ่มโอกาสช่องทางการตลาดได้มากขึ้น สามารถจำหน่ายให้กับบริษัทส่งออกไปตลาดต่างประเทศทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้นายสมชายยังเป็น 1 ในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกชมพู่จากประเทศไทยไปจีนร่วมกับกรมวิชาการเกษตร  เนื่องจากในช่วงปี 2555 ได้เกิดปัญหากระทรวงควบคุมคุณภาพการตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) ประกาศระงับการนำเข้าชมพู่จากประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพราะตรวจพบแมลงวันผลไม้  โดยสมชายได้ให้ความร่วมมือและเดินหน้าแก้ไขปัญหาไปพร้อมกับกรมวิชาการเกษตรทำให้สวนชมพู่เจริญสุขเป็น 1 ใน 6 สวนแรกที่ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนได้  และยังเป็นสวนต้นแบบให้กับแปลงอื่นในการผลิตชมพู่ส่งออกได้เข้ามาศึกษาอีกด้วย

 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  สำหรับเกษตรกรที่ได้รับรางวัลดีเด่นสาขาเกษตรอินทรีย์ คือ นายเมธี  บุญรักษ์  เกษตรกรที่เริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์จากไม่มีข้อมูลและความรู้ใดๆ ในการพัฒนาพื้นที่จำนวน 10 ไร่ให้เป็นแปลงอินทรีย์จึงได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลและได้เรียนรู้ระบบการจัดการสวนตามมาตรฐานการผลิตพืช GAPและมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส  กรมวิชาการเกษตร และได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ในการทำการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง  โดยยึดแนวคิดในการทำการเกษตรเพื่อลดการใช้สารเคมีและลดต้นทุนการผลิต  โดยในปี 2561ได้สมัครขอรับรองแหล่งผลิต GAPพืช  และขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์จนผ่านการรับรองมาตรฐานพืชอินทรีย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Organic Thailand) จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา  

ในกระบวนการผลิตที่สวนของนายเมธีจะใช้วิธีการตัดหญ้า ปลูกหญ้าแฝกพร้อมกับปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อคลุมวัชพืชในสวนและป้องกันการระเหยของความชื้นในดิน  มีการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมักและใช้ปุ๋ยชีวภาพจากแหนแดง  ส่วนการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชจะเน้นการป้องกันมากกว่าการกำจัดโดยใช้ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยฉีดพ่นร่วมกับวิธีเขตกรรม เช่น การดูแลแปลงให้สะอาด การดูแลพืชปลูกให้สมบูรณ์แข็งแรงและใช้สารไล่แมลงจากพืชที่ทำขึ้นเอง ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่สูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไป  โดยผลผลิตลองกองท้องถิ่นราคา 30-40 บาทต่อกิโลกรัม  แต่จากการบริหารจัดการโดยการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์  และการคัดคุณภาพก่อนส่งจำหน่ายทำให้สามารถจำหน่ายลองกองเกรด A ได้ราคาถึง  100 บาทต่อกิโลกรัม

 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรดีเด่นประจำปี 2563 ทั้ง 2 รายนี้นับเป็นความภาคภูมิใจของกรมวิชาการเกษตร เพราะเป็นเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นและรักในอาชีพเกษตรกรอย่างแท้จริง  มีความคิดริเริ่ม  อดทน ขยันหมั่นเพียร พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้  ทำการเกษตรโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม  ผลิตผลผลิตที่มีคุณภาพจนได้รับการยอมรับทั้งจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ  พร้อมทั้งสามารถที่จะเป็นผู้นำและแบบอย่างให้เกษตรกรรายอื่นได้ปฏิบัติตามต่อไป

Loading