วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน”ลงพื้นที่นครปฐมหลังโควิดคลี่คลาย”

นครปฐม อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานลงพื้นที่นครปฐมหลังโควิดคลี่คลาย

วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 16 นครปฐม นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าตรวจเยี่ยมและติดตามการทำงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 16 นครปฐม โดยมีนายสรรชัย ชอบพิมาย ผอ.สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 16 นครปฐม นางสาวสุมาลี สุวรรณเกต ผอ.สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสงคราม และว่าที่ร้อยตรี ประพันธ์ คชประดิษฐ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสาครและเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับ

 

การมาครั้งนี้อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เข้าติดตามการดำเนินงานโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ การฝึกอบรมอาชีพแบบออนไลน์ (ภาคปฏิบัติ) การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ การประเมินความรู้ความสามารถ (License) ช่างเครื่องปรับอากาศ และพบปะกับภาคีเครือข่ายตลอดจนภาคเอกชนด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน มีการมอบเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2560 เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อช่วยเหลือหรืออุดหนุนฯ 3 แห่ง ประกอบด้วย

 

(๑) บจก. โอตานิ เรเดียล ที่พัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่พนักงานของตนมากว่าร้อยละ 70 เป็นเงิน 57,400 บาท
(2) บจก. สามมิตร พีจีที โปรทรัค โซลูชัน เซ็นเตอร์ ที่จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของตน เป็นเงิน 10,000 บาท
(3) ม.ราชภัฏสวนสุนันทาที่ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในปีที่ผ่านมามากกว่า 175 คน เป็นเงิน 20,000 บาท
จากนั้นได้ ในช่วงบ่ายวันเดียวกันได้เข้าตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 ณ บริษัท แก้วสามพราน จำกัด ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ผลิตโคมไฟแก้วแบบภูมิปัญญาชาวบ้านส่งจำหน่ายในร้านค้าปลีกค้าส่งชั้นนำของประเทศ

 

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมพัฒนาฝีมือรงงานมีการปรับแผนการฝึกภายใต้โครงการตามภารกิจปกติที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 จำนวน 6 โครงการเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูด้านอาชีพแก่แรงงานในสถานประกอบกิจการและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ด้วยการจัดฝึกอาชีพระยะสั้น ใช้เวลาฝึก 18-30 ชั่วโมง (3-5 วัน) พร้อมมีค่าอาหารวันละ 150 บาทให้แก่ผู้เข้าฝึกอบรมทุกคน เป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพในระหว่างฝึกอบรมและบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงเวลานี้ และที่สำคัญเป็นการพัฒนากำลังแรงงานทั้งภาคอุตสาหกรรมและกำลังแรงงานนอกระบบ ผู้ถูกเลิกจ้างว่างงงาน รองรับการที่คนไทยทุกคนต้องดำเนินชีวิตแบบใหม่ (New Normal)

 

โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ) ทั่วประเทศ เร่งดำเนินการโครงการภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำทักษะไปประกอบอาชีพสร้างรายได้หรือพัฒนาการทำงาน โดยหลักสูตรที่จัดอบรมมีหลากหลายมาก เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ภาษาจีนกลางเพื่อการบริการในโรงแรม การใช้งาน PLC ในงานอุตสาหกรรม เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด การเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ พนักงานขับรถยกสินค้า การทำกาแฟสด การทำกาแฟโบราณ น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ การประกอบอาหาร การทำขนมไทย เป็นต้น

 

ทีมข่าว /เฉพาะกิจ

Loading