วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

ศรีสะเกษ”เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย

ศรีสะเกษ : เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ปี 2563

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 63 ที่ห้องประชุมศรีพฤทเธศวร ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2563

 

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ปี 2563 จังหวัดศรีสะเกษเกิดเหตุวาตภัย 21 อำเภอ ยกเว้นอำเภอบึงบูรพ์ อำเภอเดียว ที่ผ่านมาจังหวัดได้ให้ความสงเคราะห์และช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนราษฎร์ และมีการมอบถุงยังชีพเป็นลำดับมา ซึ่งในวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายนนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายจรัลธาดา กรรณสูตร องคมนตรีและคณะฯ เชิญสิ่งของพระราชทานมามอบให้แก่ผู้ที่ประสบวาตภัย ทั้ง 21 อำเภอ โดยจะมีการมอบสิ่งของพระราชทานที่อำเภอไพรบึง ซึ่งจะมีนายอำเภอทั้ง 21 อำเภอ เป็นตัวแทนเข้ารับมอบ เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 จึงไม่สามารถที่จะให้ประชาชนจำนวนมากมารวมตัวเพื่อเข้ารับมอบสิ่งของได้ จากนั้นองคมนตรีจะลงพื้นที่เยี่ยมผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวาตภัย ในพื้นที่อำเภอไพรบึง จำนวน 10 ครัวเรือน และพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จำนวน 10 ครัวเรือน

 

ด้านนายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึง การบริหารจัดการน้ำ โดยใช้ระบบธนาคารน้ำใต้ดินว่า ดูตามโครงการจิตอาสาต้านภัยแล้ง ทางศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา และศูนย์บัญชาการจิตอาสาจังหวัด ก็จะเน้นเรื่องระบบน้ำ ซึ่งใน 8 กิจกรรมจะมีเรื่อง ระบบธนาคารน้ำใต้ดินทำการขุดแหล่งน้ำใหม่ แหล่งน้ำเดิมและมีระบบการเชื่อมน้ำในคลอง ซึ่งเป็นระบบน้ำใต้ดิน ซึ่งจังหวัดได้ให้อำเภอโดยเฉพาะอำเภอที่ประกาศพื้นที่ประสบภัยลองไปทำ เท่าที่ดูจากการประเมินเบื้องต้น บางที่ก็ยังขุดไม่ถึงระดับที่เป็นไปตามระบบ ซึ่งจริงๆ งบประมาณที่ใช้เรื่องระบบธนาคารน้ำใต้ดินก็ใช้ไม่มาก ถ้าท้องถิ่นเองให้ความสำคัญและนำส่วนนี้มาใช้ก็คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะการเติมน้ำใต้ดินลงไป จะทำให้ในพื้นที่เกิดความชุ่มชื่นและสามารถที่จะนำน้ำที่เติมลงไปกลับขึ้นมาใช้ได้อีก ก็คิดว่าน่าจะแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้

บุญทัน ธุศรีวรรณ ………. รายงาน

Loading