วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ศอ.บต.ในการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ

ก้าวต่อไปของ ศอ.บต. ในการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่ 4 คือการสร้างความ”มั่นใจ”ให้กับคนในพื้นที่
เวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใน 3 ตำบล ของ อำเภอจะนะ

ที่จัดขึ้นโดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงรายละเอียดของ เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ได้เสร็จลงแล้วอย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็น ก้าวแรก ของการ”ปักธง” ตามขบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีประชาชนที่เป็นตัวแทนของทุก วิชาชีพ ทั้ง เกษตร ประมงพื้นบ้าน ตัวแทนของกลุ่มอาชีพต่างๆ แม้แต่ ตัวแทนนักกฎหมาย ก็ได้แสดงความคิดเห็น ทั้งการเรียกร้องในเรื่องของการ ชดเชย การเรียกร้องความมั่นใจ และ สัญญาประชาคม รวมถึงความห่วงในในเรื่อง สุขภาวะ ในเรื่อง สิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่อาจจะมีต่ออาชีพ และวิถีชีวิต

ซึ่งในเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 11 ที่โรงเรียนจะนะวิทยา นอกจากตัวแทนของ ศอ.บต.ที่เป็นฝ่ายอำนวยการในการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ยังมีตัวแทนจาก “กลุ่มทุน” ที่จาก “ทีพีไอ โพรีน” และ “ไออาร์พีซี” ให้รายละเอียดของโครงการ ที่จะเกิดขึ้น หากได้รับการเห็นด้วยกับโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ความต้องการ ของคนในพื้นที่โดยตรง ซึ่งเป็นข้อดีที่ ทั้งตัวแทน”กลุ่มทุน” และ ประชนชนคนในพื้นที่ 3 ตำบล ที่เป็นที่ตั้งของโครงการ ได้พบกัน โดยคนในพื้นที่ได้รับฟัง รายละเอียดของโครงการว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง และในขณะเดียวกันตัวแทน”กลุ่มทุน” ก็ได้รับรู้ ถึงความกังวล ความห่วงใย และข้อเรียกร้องของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ “มีส่วนได้ส่วนเสีย” ในทุกกรณี
ส่วนกลุ่มผู้”เห็นต่าง” หรือ กลุ่ม ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพ ประมงพื้นที่บ้าน ที่มี เอ็นจีโอ เป็นผู้นำ แม้จะไม่ได้เข้าร่วมเวทีการแสดงความคิดเห็น เพราะฝ่ายที่จัดเวทีต้องการให้เกิดความสงบ ไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้า ระหว่าง ชาวบ้านด้วยกัน เนื่องจาก เอ็นจีโอ จะใช้ “วิชามาร” เดิมๆ ที่เคยใช้ ในการ”ล้มเวที” เพื่อมิให้ ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับฟังข้อมูล และแสดงความคิดเห็น
แต่..โดยข้อเท็จจริง แม้กลุ่มผู้”เห็นต่าง” จะไม่ได้ไปแสดงความคิดเห็นในเวทีดังกล่าว ก็ไม่ได้หมายความว่า ศอ.บต. จะไม่ได้รับรู้ในข้อเสนอของผู้”เห็นต่าง”ที่นำโดย เอ็นจีโอ เพราะข้อเสนอของกลุ่มผู้”เห็นต่าง” ได้ยื่นไปในทุกช่วงทาง ที่จะ คัดค้านได้ ทั้งกับ “นายกรัฐมนตรี” สภาผู้แทน และแม้กระทั่ง “ยูเอ็น” ซึ่งเป็นองค์กรต่างประเทศ

ซึ่งข้อห่วงใยของ เอ็นจีโอ และผู้”เห็นต่าง” แม้จะมีจำนวนไม่ถึง 200 คน แต่ก็ถือว่าเป็นข้อเสนอแนะที่มีคุณค่า ที่ ศอ.บต. ที่”กลุ่มทุน” ต้องรับฟัง และต้องนำไปศึกษาอย่างละเอียด เพื่อที่จะเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว
ประเด็นสำคัญของ ศอ.บต. และของ”กลุ่มทุน” ที่สำคัญคือการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนต่อโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ว่าจะต้องเป็นไปตามนโยบาย ที่ได้มีการให้ไว้กับคนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ที่”ได้รับทั้งผลกระทบ และได้รับทั้งประโยชน์” จากโครงการการพัฒนาที่เกิดขึ้น
ให้เขามั่นใจว่า การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรม ไม่ได้ทำให้อาชีพการทำประมงพื้นบ้าน ล้มหายตายจาก แต่จะได้รับการดูแล การส่งเสริมให้มั่นคงยิ่งขึ้น
ซึ่งในกรณีนี้ มีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนคือ ก่อนที่จะเกิดโรงงานแยกก๊าซ “ทรานส์ไทย-มาเลเซีย” เมื่อ 20 ปี และก่อนที่จะมีการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าจะนะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เอ็นจีโอ ก็ได้บอกกับคนจะนะว่า โรงงานทั้ง 2 โรง จะทำให้ประมงพื้นบ้านสูญเสียอาชีพ ทะเลจะนะจะเสียหาย จนกระทบกับอาชีพประมงพื้นที่
20 ปี ผ่านไป โรงงาน”ทรานส์ไทย-มาเลเซีย” อยู่ได้ ชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่ได้ โรงงานไฟฟ้าจะนะเกิดขึ้นเป็นโรงที่ 2 แล้ว แต่อาชีพประมงพื้นที่บ้านก็ยังมีความสุข และยังจับปลาได้มากขึ้น จนมีการ”โอ่” ว่าปลาจากท้องทะเลจะนะ เลี้ยงคนทั้งจังหวัดสงขลา เมื่อเร็วๆ นี้
เมื่อ 20 ปีก่อน ที่มีการต่อต้านโรงแยกก๊าชโดย เอ็นจีโอ ๆ บอก กับชาวจะนะว่า ถ้ามีโรงงานเกิดขึ้น อาชีพการเลี้ยงนกเขาชวาจะ”ล่มสลาย” วันนี้ผ่านไป 20 กว่าปี จะนะ มีทั้งโรงแยกก๊าซ มีทั้งโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่อาชีพเลี้ยงนกเขาชวา ก็ยังเป็นอาชีพที่ เชิดหน้าชูตา และทำเงินให้คนจะนะ ที่จะนะ ยังไม่มีคนเลี้ยงนกเขาคนไหนที่บอกว่า “นกเขาไม่ขัน” นกเขา”ไข่ลีบ” ตามที่ เอ็นจีโอ เคยบอก ล้วนเป็นเรื่อง หลอกลวง ทั้งสิ้น

นี้คือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ที่เห็นชัดที่สุด ที่ไม่ต้องเสียเวลาให้”นักวิชาการ”มีตั้งเวทีอภิปราย ยกเว้นคนจะนะจะไม่สนใจในเรื่องใกล้ตัว ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่ไปเชื่อในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น และอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ ถ้าหน่วยงานของรัฐ และเจ้าของโครงการ ไม่ ทรยศ ต่อสัญญาประชาคม ที่ให้ได้กับคนในพื้นที่
ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ที่เมื่อมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้ว อาชีพที่มีอยู่ของประชาชนจะ”ล่มสลาย” อาชีพเกษตรจะสูญพันธุ์ ยกเว้นมีการขายที่ดินจนไม่มีที่ทำการเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องที่บังคับไม่ได้ เพราะเขาอาจจะเลิกการเป็นเกษตรกรโดยการขายที่ดินเพื่อเป็นทุนไปสู่อาชีพใหม่
แต่…โดยหลักธรรมชาติ โดยข้อเท็จจริง ที่ไม่ต้องพึ่งนักวิชาการคือ เมื่อมีการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้น จากชนบทมาสู่เมืองใหญ่ คนที่เพิ่มมากขึ้น การกินอยู่การใช้สอยยิ่งมากขึ้น ผลผลิตทุกอย่างเช่น พืช ผัก ผลไม้ กุ้งหอย ปูปลา ย่อมแพงขึ้น อาชีพ พ่อค้า แม่ขาย และ อื่นๆ ที่เป็นของคนในท้องที่ก็จะเพิ่มขึ้น นั้นหมายถึง ปัญหาว่างงานที่ลดลง เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น

ส่วนผลกระทบทางสังคมนั้นมีแน่ เช่นปัญหาจราจร ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ซึ่งก็เป็นปัญหา ปกติ ที่เกิดขึ้นทุกบ้านทุกเมือง และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาทุกประเด็นที่เกิดขึ้น
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด สำหรับการก้าวต่อไปของ โครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” คือ การนำข้อเสนอแนะ ข้อเรียกร้อง ข้อห่วงใย จากเวทีเมื่อวันที่ 11 ที่ผ่านมา เพื่อไปสู่ขบวนการสร้างความมั่นใจให้กับ คนในพื้นที่ให้ได้ เพราะวันนี้เท่าที่ติดตามเวทีของ ศอ.บต. เมื่อวันที่ 11 ที่ผ่านมา คือยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ ไม่มั่นใจว่า สิ่งที่ได้นำเสนอไปในเวลากว่า 1 ปี ของขบวนการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจกับคนในพื้นที่
ซึ่งประเด็นนี้ ต้องเข้าใจ และเห็นใจคนจะนะ เพราะที่ผ่านมาคนจะนะเคยคาดหวังจากโครงการโรงแยกก๊าซ และโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรง ว่าจะเป็นที่คนจะนะต้องได้รับประโยชน์ ทั้งในด้านของการได้ทำงาน และการได้ประโยชน์อื่นๆตามที่เคยมีการรับปากกับชาวบ้านในเบื้องต้น แต่สุดท้าย ไม่เป็นไปตามที่มีการ “ตกปากรับคำ” ระหว่างเจ้าของโครงการกับคนในพื้นที่

ดังนั้น ก้าวต่อไปของ ศอ.บต. และของ”กลุ่มทุน คือการสร้างความ “เข้าใจ”เพื่อให้คนในพื้นที่”มั่นใจ” โดยการมีสัญญาประชาคม และ สัญญาอื่นๆ ที่ให้คนในพื้นที่”เชื่อมั่น” ว่า ทำได้จริง และคนในพื้นที่ต้องได้ประโยชน์จริง ไม่ใช่ แค่การให้”ยาหอม” อย่างที่ โครงการอื่นๆ เคยให้ไว้กับชาวจะนะ

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์/หาดใหญ่/สงขลา

Loading