วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

สนจ.นครพนม”รายงาน COVID-19

“สสจ.นครพนม” รายงาน COVID-19
ไร้ป่วยเข้าเกณฑ์ เข้มงวดสถานที่คนมาก “ต้องสวมหน้ากาก

 

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2563 เวลา 08.00 น. นายแพทย์จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม มอบหมายนางสาวรัชนี เต็มอุดม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม (ศปก.นพ.) ครั้งที่ 147/2563 เพื่อรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่)

นางสาวรัชนี เต็มอุดม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม รายงานให้ที่ประชุมทราบสถานการณ์ภาพรวมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2563 เวลา 17.00 น.) มีผู้ป่วยติดเชื้อรวม 18,001,845 คน อาการรุนแรง 65,701 คน รักษาหายแล้ว 11,326,232 คน เสียชีวิตรวม 688,683 คน สถานการณ์ภาพรวมในประเทศไทย ผู้ป่วยรายใหม่ 5 คน (ติดเชื้อในประเทศ 0 คน สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 5 คน) ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,317 คน (ติดเชื้อในประเทศ 2,444 คน สถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 380 คน) หายป่วยแล้ว 3,142 คน (ผู้ป่วยรักษาอยู่ 117 คน เสียชีวิต 58 คน ประวัติเสี่ยง ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine จากรัสเซีย 1 ราย อินโดนีเซีย 1 ราย เยอรมันนี 1 ราย ญี่ปุ่น 1 ราย จำนวนผู้ป่วยยืนยันจำแนกตามพื้นที่รักษา กรุงเทพมหานครและนนทบุรี 1,812 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 554 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 112 ราย และภาคใต้ 744 ราย

 

สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม (ข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น.) ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “COVID-19″ รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 2 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under investigation: PUI) รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 159 ราย คงเหลือติดตามต่อเนื่อง 6 ราย (รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 0 ราย) ข้อมูลผู้กักกันในสถานที่ที่จังหวัดจัดให้ (Local Quarantine) รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 130 ราย คงเหลือติดตาม 1 ราย (สิ้นสุดการติดตามวันที่ 9 สิงหาคม 2563) ส่วนข้อมูลการเก็บตัวอย่างส่งตรวจผู้กักกัน (Local Quarantine: สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 3 สิงหาคม 2563 ครั้งที่ 1 ไม่พบเชื้อ (สะสม) 79 ราย รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 0 ราย ครั้งที่ 2 ไม่พบเชื้อ (สะสม) 18 ราย รอผล 0 ราย

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบวิวัฒนาการของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การแยกสายพันธุ์ของไวรัสเกิดจากวิวัฒนาการของเชื้อ (ตามภาพ) ไวรัสเริ่มต้นจากจีนจะมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เอส S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) สายพันธุ์ L แพร่กระจายมีลูกหลานได้มากกว่าสายพันธุ์ S โดยเฉพาะเมื่อออกนอกจีนไปถึงยุโรป สายพันธุ์ L แพร่กระจายได้ดีออกลูกหลานเป็นสายพันธุ์ G (Glycine) และสายพันธุ์ V (Valine) สายพันธุ์ G แพร่กระจายได้ง่ายตามหลักวิวัฒนาการ จึงกระจายไปทั่วโลกอย่างกว้างขวาง มีลูกหลานของสายพันธุ์ G มาเป็นสายพันธุ์ GR (Arginine) และ GH (Histidine)
นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบว่าสายพันธุ์ G ระบาดได้ง่ายแพร่กระจายได้เร็ว แต่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรคและระบบภูมิต้านทาน ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีน ขณะนี้อัตราการครอบคลุมสายพันธุ์ G เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมาเป็นเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่นี้ทั่วโลกจึงเป็นสายพันธุ์ G
การย้อนกลับมาระบาดในประเทศไทย ถึงแม้จะพบได้ทุกสายพันธุ์เพราะมีการเดินทาง แต่สายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยในระลอกแรกเป็นสายพันธุ์ S ขณะนี้การตรวจไวรัสในผู้ที่อยู่ในที่กักกันของรัฐ (State quarantine) โดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสของจุฬาฯ พบว่าเป็นสายพันธุ์ G เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา สายพันธุ์นี้ไม่เกี่ยวข้องที่จะทำให้โรครุนแรงขึ้น ไม่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน เพียงแต่การกระจายง่าย ๆ จึงทำให้อัตราการพบส่วนใหญ่ของทั่วโลกเป็นสายพันธุ์ G อยู่ในขณะนี้

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้กำชับในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม ให้มีการกำหนดมาตรการดูแลความเรียบร้อยให้เป็นไปตามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดระเบียบการจราจรที่บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช และที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ที่มีนักท่องเที่ยวมากราบไหว้จำนวนมาก โดยกำหนดให้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ก่อนเข้าไปสักการะองค์พระญาศรีสัตตนาคราช และก่อนเข้าวัดพระธาตุพนม

อนึ่ง สำหรับการป้องกันการแพร่เชื้อโดยการสวมหน้ากาก มีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 (ไม่สวมหน้ากาก) ใกล้ชิดกันกับคนปกติ (สวมหน้ากาก) มีโอกาสแพร่เชื้อ/ติดเชื้อ 70% ผู้ติดเชื้อโควิด-19 (สวมหน้ากาก) ใกล้ชิดกับคนปกติ (ไม่สวมหน้ากาก) มีโอกาสแพร่เชื้อ/ติดเชื้อ 5% และผู้ติดเชื้อโควิด-19 (สวมหน้ากาก) ใกล้ชิดกันกับคนปกติ (สวมหน้ากาก) มีโอกาสแพร่เชื้อ/ติดเชื้อ 1.5% ดังนั้น “จงอย่าเข้าใกล้ใครก็ตามที่ไม่ได้สวมหน้ากาก”

เทพพนม รายงาน

Loading