วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

กาญจนบุรี”กรมอุทยาน”ลุยปราบร้านค้าจำหน่ายเนื้อสัตว์ป่า”

กาญจนบุรี กรมอุทยาน ลุยปราบปรามร้านค้าเนื้อสัตว์ป่าริมถนนไทรโยค-กาญจนบุรี ต่อเนื่อง แจ้งเตือนร้านค้าหลอกขายเนื้อสัตว์ป่าเก๊ให้ผู้ซื้อ มีโทษหนักจำคุก 3 ปี

 

ตามที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สั่งการให้ทุกสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ของกรมอุทยานฯ ปราบปรามดำเนินคดี กับร้านค้าสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด และต่อเนื่อง

วันนี้ 8 ส.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พร้อมด้วย นายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผู้อำนวยการส่วนสัตว์ป่า นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และชุดเจ้าหน้าที่ สบอ.3 (บ้านโป่ง) จำนวน 7 นาย ได้ออกตรวจปราบปรามร้านค้าขายเนื้อสัตว์ป่า สองข้างทางถนนสายไทรโยค- กาญจนบุรี อย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่สามารถจับกุม นางอารยา บุญมี อายุ 54 ปี แม่ค้าขายเนื้อกวางป่า โดยได้ติดป้ายโฆษณา หน้าร้านค้าขายเนื้อ “กวางป่า” ริมถนนสายไทรโยค-กาญจนบุรี อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ในข้อหาค้าเนื้อ “กวางป่า” โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำและปรับ ส่งดำเนินคดีไปแล้วนั้น

นายนิพนธ์ จึงได้สั่งการให้ นายณรงค์ศักดิ์ สมศักดิ์ กับพวก 2 คน เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่3 (บ้านโป่ง) ปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวอีกครั้งเข้าไปล่อซื้อเนื้อสัตว์ป่า จากร้านค้าที่โฆษณาหน้าร้าน ขายเนื้อสัตว์ โดยติดข้อความขาย “กวาง” “กระต่าย” อย่างเดียวไม่มีข้อความว่า “กวางป่า” “กระต่ายป่า” บริเวณข้างถนนสายไทรโยค -กาญจนบุรี บ้านท่าเสา หมู่ที่ 3 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

โดย นายณรงค์ศักดิ์ ที่ปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยว ก่อนที่ล่อซื้อเนื้อสัตว์ป่าดังกล่าว ได้สอบถามกับคนขาย เจ้าของร้านค้าดังกล่าวว่าเป็นเนื้อกวางอะไร คนขายเจ้าของร้านตอบว่าเป็นเนื้อกวางลูซ่า ส่วนเนื้อกระต่ายไม่มี หลังจากได้รับคำตอบจากคนขายแล้ว นายณรงค์ศักดิ์ ได้ทำการซื้อเนื้อกวางลูซ่า จำนวน 1 กิโลกรัม ราคา 250 บาท เมื่อได้ซื้อขายเสร็จแล้วจึงได้ส่งสัญญาณให้คณะเจ้าหน้าที่ที่ซุ่มอยู่บริเวณใกล้เคียงกับร้านค้าดังกล่าว ได้เข้ามาแสดงตัว และเข้าทำการตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว ทราบชื่อคนขายเจ้าของร้านดังกล่าวภายหลังว่า นางสาวสุวิมล กุมาทะ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 146 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดย นางสาวสุวิมล ให้การเบื้องต้นยื่นยันกับคณะเจ้าหน้าที่ว่า เป็นเนื้อกวางเลี้ยงลูซ่า ไม่ใช่เนื้อกวางป่าสัตว์ป่าคุ้มครอง

คณะเจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้ นางสาวสุวิมล ผู้ขายทราบว่า ถึงแม้จะติดป้ายโฆษณาว่าขายเนื้อสัตว์ว่า “กวาง” และให้ถ้อยคำว่า เป็นเนื้อกวางเลี้ยงลูซ่า ที่สามารถซื้อ ขาย ได้ก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการนำเอา “กวางป่า” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มาขายโดยอำพรางว่าเป็นเนื้อสัตว์เลี้ยง “กวางลูซ่า” เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่จะนำชิ้นเนื้อสัตว์ดังกล่าวตามที่ นางสาวสุวิมล กล่าวอ้างว่าไม่ใช่เนื้อสัตว์ป่า ไปตรวจ DNA ที่ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานฯ หากผลตรวจ DNA ชิ้นเนื้อสัตว์ดังกล่าว เป็นเนื้อกวางป่า ซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองลำดับที่ 14 จะนำตัว นางสาวสุวิมล มาดำเนินคดีตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ภายหลังต่อไป ซึ่ง นางสาวสุวิมล รับทราบ และคณะเจ้าหน้าที่จึงได้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน

โดย นายนิพนธ์ เปิดเผยว่า ขอเตือนไปยังร้านค้าทั้งหลาย ที่แสดงข้อความโฆษณาหน้าร้านว่าเป็น “กวางป่า” หรือ “กระต่ายป่า” หรือ “เก้ง” หรือสัตว์ป่าอื่นๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนทางอ้อมให้มีการค้าหรือล่า สัตว์ป่าสงวน หรือ สัตว์ป่าคุ้มครอง แต่เมื่อคณะเจ้าหน้าที่ได้ล่อซื้อเนื้อสัตว์ป่าดังกล่าวแล้ว และนำชิ้นเนื้อสัตว์ดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ DNA หากผลปรากฏว่า เป็นเนื้อสัตว์ป่าเก๊ หรือเนื้อสัตว์เลี้ยง เช่น เอาเนื้อลูกวัวมาย้อมสีแดง หลอกขายว่าเป็นเนื้อ “กวางป่า” หรือโฆษณาติดป้ายว่า เป็น “กวางป่า” แต่ที่แท้จริงเป็นเนื้อสัตว์เลี้ยง “กวางลูซ่า” ถึงแม้คนขายจะไม่ผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 แต่ก็เป็นการหลอกลวงผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภค ผิดกฎหมายอาญามาตรา 271 ฐานผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณ แห่งของนั้นอันเป็นเท็จซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

และผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ฐานเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิดสภาพคุณภาพปริมาณหรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามร้านค้าที่มีพฤติกรรมโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคในการขายเนื้อสัตว์ป่าเก๊ หรือเนื้อสัตว์เลี้ยง หลอกลวงโฆษณาว่าเป็นเนื้อสัตว์ป่า เช่น “กวางป่า” “กระต่ายป่า” ขอให้ยกเลิกกระทำดังกล่าวเสีย มิฉะนั้นร้านค้าเหล่านั้นก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป.

ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี

Loading