วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

กรมอุทยานฯสบอ.3 บ้านโป่ง เอกซเรย์โฉนด หรือ น.ส.3 ก ไม่ทำประโยชน์

กาญจนบุรี กรมอุทยานฯสบอ.3(บ้านโป่ง) เอกซเรย์ โฉนด หรือน.ส. 3 ไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้ที่ดินเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เกินก.ม.กำหนด จะยึดคืนกลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน

 

วันที่ 23 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่3 (บ้านโป่ง)เปิดเผยว่า มีคำพิพากษาศาลปกครองที่สำคัญ และเป็นคดีแรกของประเทศไทย ที่เป็นคดีพิพาท ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน ที่เจ้าของที่ดินทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยที่ดิน ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ถ้าเป็นโฉนดที่ดิน เกิน 10 ปีติดต่อกัน ถ้าเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เกิน 5 ปี ติดต่อกัน ให้ถือว่ามีเจตนาสละสิทธิ์ที่ดินนั้น เมื่ออธิบดีกรมที่ดินได้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลได้สั่งเพิกถอน ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐ เป็นคดีที่เกิดขึ้นในสมัยที่ตนเองเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย)

นายนิพนธ์ฯเปิดเผยต่อไปว่าเมื่อ 4 ปีกว่าที่แล้ว วันที่ 11 ก.พ. 2559 น.ส.เจนจิรา ชมภูชิต กับพวก ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 12/2559 ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่ง 2 คำขอดังนี้

1.ขอให้เพิกถอนหนังสือคัดค้านของ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนแจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่คัดค้านการรังวัดที่ดินตาม น.ส. 3 ก.เลขที่ 1624 ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื้อที่ 2ไร่ 3 งาน 29 ตาราวา ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ ที่คัดค้านว่า ที่ดินดังกล่าวถึงแม้มีเอกสารสิทธิ์ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่สภาพ ปัจจุปัน มีสภาพเป็นป่า และเมื่อตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง ประกอบกับมีพยานบุคคลยื่นยันว่า ที่ดินดังกล่าวได้ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 เกินกว่า 5 ปีติดต่อกัน ถือว่ามีเจตนาสละสิทธิ์ ตาม มาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน ตกเป็นของรัฐ โดยผลของกฎหมาย โดยทันที เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกา ที่ 1989 /2511 พร้อมกับได้ทำหนังสือ และพยานหลักฐาน ขอให้อธิบดีกรมที่ดิน ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลสั่ง เพิกถอนน.ส.3ก.เลขที่ 1624 ให้ตกเป็นของรัฐ ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน

 

2.ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนแจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย และค่าขาดประโยชน์ ให้กับน.ส.เจนจิราฯกับพวกผู้ฟ้องคดี เป็นเงิน 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ส.ค 2563 ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่ จึงได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 12/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 207/2563 ยกฟ้อง ในคดีดังกล่าว โดยศาลฯได้วินิจฉัยว่าที่ดินตาม น.ส.ก.3 เลขที่1624ดังกล่าว ได้ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าติดต่อเกินกว่า 5 ปี ตามมาตรา 6ประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ที่ดินน.ส.3ก.เลขที่ 1624 ดังกล่าว ยังไม่ตกเป็นของรัฐโดยทันที กรมอุทยานฯต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนให้อธิบดีกรมที่ดิน นำเรื่องดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาลให้วินิจฉัยชี้ขาดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเพิกถอน ที่ดินน.ส. 3 ก.ดังกล่าวหรือไม่เสียก่อน นางสาวเจนจิราฯกับพวกผู้ฟ้องคดี ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินน.ส.3ก.เลขที่ 1624 ตราบเท่าที่ดินของนางสาวเจนจิราฯกับพวก ผู้ฟ้องคดียังไม่ถูกเพิกถอนสิทธิครอบครองให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ

สำหรับ ค่าเสียหายที่น.ส.เจนจิราฯกับพวก ผู้ฟ้องคดี อ้างว่าได้กู้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงินเพื่อนำไปซื้อที่ดินน.ส. 3 ก.เลขที่ 1624 ดังกล่าว และค่าขาดประโยชน์ ขาดรายได้จากการที่จะทำร้านอาหาร และร้านกาแฟ ในที่ดินน.ส. 3 ก.เลขที่1642 ดังกล่าว รวมเป็นเงิน 5 ล้านบาทนั้น ศาลฯได้วินิจฉัยว่า ขณะที่น.ส.เจนจิราฯกับพวกผู้ฟ้องคดีได้นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาล น.ส.เจนจิราฯกับพวก ผู้ฟ้องคดี ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ตามน.ส. 3 ก.เลขที่1624 ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ ตราบเท่าที่ดินของน.ส.เจนจิราฯกับพวกผู้ฟ้องคดี ยังไม่ถูกเพิกถอนความเสียหายที่น.ส.เจนจิราฯกับพวก ผู้ฟ้องคดี ที่กล่าวอ้างว่าได้กู้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวยังไม่ถือเป็นความเสียหาย ที่จะฟ้องร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่1ที่ 2 และที่ 3ชดใช้ให้แก่น.ส.เจนจิราฯกับพวกผู้ฟ้องคดีได้ การกระทำของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนแจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อน.ส.เจนจิราฯกับพวกผู้ฟ้องคดี

ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการที่จะทำร้านอาหารหรือร้านกาแฟ ในที่ดินน.ส.3 ก.เลขที่ 1624 ดังกล่าวนั้นค่าเสียหายดังกล่าว เป็นเพียงการคาดการณ์ในอนาคต จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ให้แก่น.ส.เจนจิราฯกับพวกผู้ฟ้องคดี

จากคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ดังกล่าว และตามนโยบาย ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายจตุพรบุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญาเนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ให้ดำเนินคดีกับนายทุน ผู้บุกรุกป่า อย่างเด็ดขาด หากพบการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบในที่ดินในเขตป่า ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดต่อไป

ดังนั้น นายนิพนธ์ฯ จึงได้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทุกแห่งในสังกัด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3(บ้านโป่ง) ที่ดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในจังหวัดกาญจนบุรีสุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงครามสมุทรสาคร ให้ดำเนินการ ตรวจสอบโฉนดที่ดิน หรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่รับผิดชอบ หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการเอกสารสิทธิ์ในที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ โดยมิชอบ ก็เสนอขอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบในที่ดินเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน กลับคืนมาเป็นสมบัติของแผ่นดินดังเดิม

ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่า โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ออกโดยชอบ แต่ได้ทอดทิ้ง หรือไม่ทำประโยชน์ ถ้าเป็นโฉนดที่ดิน เกิน 10 ปี ถ้าเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกิน 5 ปี ถือว่า มีเจตนาสละสิทธิ์ ในที่ดิน ก็เสนอขอให้กรมที่ดิน เสนอต่อศาล เพิกถอน ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน กลับคืนมาเป็นสมบัติของแผ่นดินดังเดิม

นายนิพนธ์ฯยังได้กล่าวต่อไปว่า หากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ล่าช้า ทั้งที่มีพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้ง โดยปราศเหตุอันสมควร หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้เดือดร้อน หรือเสียหาย อาจสามารถยืนฟ้อง ให้กรมที่ดินดำเนินการตามกฎหมายที่ดิน มาตรา 6 หรือมาตรา 61 ได้ไม่ขัดกับมติครม.12 ธ.ค.2549 เทียบเคียงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.529/2559 และถ้าหากดำเนินการอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ในที่ดินที่ได้ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดินในทุกพื้นแล้ว จะเป็นการกระตุ้นการพัฒนาที่ดินและสร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังได้พื้นที่ป่าหรือพื้นที่สีเขียวเพิ่มขี้นจากการยึดคืนที่ดินมาจากนายทุนอีกด้วย

ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี

Loading