วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว”เดือดร้อนหนัก”โรคปากเท้าเปื่อย ระบาด วัวล้มตายไปกว่า 30 ตัว

กาญจนบุรี เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ทั้งตำบลกลอนโด กว่า 50 ครอบครัว เดือดร้อนหนัก โรคปากเท้าเปื่อยระบาด วัวล้มตายไปกว่า 30 ตัว วอนภาครัฐเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

 

เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ในตำบลกลอนโด อำเภอด่านมะขามเตี้ย กว่า 50 ครอบครัว เดือดร้อนอย่างหนัก หลังโรคปากเปื่อย เท้าเปื่อยในวัวระบาดแทบทุกครัวเรือน ส่งผลมีวัวป่วยเกือบร้อยตัวและเสียชีวิตไปแล้วหลายสิบตัว วอนเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

วันนี้ 12 พ.ย 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่ตำบลกลอนโด อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้าน ยึดอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงวัวกันเป็นจำนวนมาก นับเฉพาะในตำบลกลอนโด ทั้ง 11 หมู่บ้าน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวมากกว่า 50 ราย ซึ่งในขณะนี้ บรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวกำลังประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยในวัว แทบทุกครัวเรือนที่มีการเลี้ยงวัว โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในพื้นที่ตำบลกลอนโด ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า โรคปากเปื่อย เท้าเปื่อยในวัว เริ่มกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากโรคนี้ หายไปจากตำบลกลอนโดนานเกือบสิบปี โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเชื่อว่า ปัจจัยที่ทำให้โรคปากเปื่อย เท้าเปื่อย กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง น่าจะมา

 

จากสภาพอากาศช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่มีฝนตกต่อเนื่อง จนทำให้ดินมีความชุ่มชื้นสูง ประกอบกับเมื่อเริ่มมีวัวในคอกของเกษตรกรล้มป่วย ทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ทราบข่าว กลับไม่ได้มีการแจ้งเตือนให้เกษตรกรรายอื่นๆได้ทราบ ทำให้ขาดการเฝ้าระวัง จนเริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโรคไปตามวัวคอกอื่นๆ แทบทุกคอกของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในตำบลกลอนโด ผลการสำรวจเบื้องต้น พบว่ามีวัวที่ล้มป่วยด้วยโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยเกือบ 100 ตัว และตายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ตัว โดยอาการของโรคนี้ วัวที่ติดเชื้อจะเริ่มมีอาการซึม หงอย มีน้ำลายไหลย้อยออกจากปาก มีบาดแผลเป็นหนองที่กีบเท้าและที่บริเวณปาก ทำให้เดินไม่สะดวกและทานอาหารไม่ได้ หากอาการหนักมากก็จะถึงขั้นล้มตายในที่สุด

นางดาลัด ขุนแสน เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในตำบลกลอนโด ถือเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคปากเปื่อย เท้าเปื่อย ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า หลังเกิดการแพร่ระบาดในตำบลกลอนโด ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งตนเอง โดยการไปหายา มารักษาตามอาการต่างๆให้กับวัวที่เลี้ยงไว้ ทั้งยาลดไข้ ยาแก้อักเสบ ยาม่วงต่างๆ อย่างในรายของนางดาลัด ขุนแสน เองนั้น มีวัวล้มป่วยหลายสิบตัว ทำให้ต้องนำเงินไปหาซื้อยามาฉีดเกือบสามหมื่นบาท แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยชีวิตวัวทั้งหมดเอาไว้ได้ โดยในคอกของนางดาลัดมีวัวตายไปทั้งสิ้น 7 ตัว ส่วนวัวที่ยังไม่เสียชีวิต ก็ยังต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดอีกหลายตัว

 

หลังจากทางกลุ่มเกษตรกร แจ้งเรื่องการแพร่ระบาดของโรคไปให้ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทราบ ก็กลับไม่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเร่งดูแลและให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด มีเพียงการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบเบื้องต้นและฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในคอกที่พบการแพร่ระบาดเพียงบางคอกเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดได้ เกษตรกรต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก

ชาวบ้านอยากให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยตรวจสอบว่าเพราะเหตุใด ในปีนี้ การแพร่ระบาดของโรคปากเปื่อย เท้าเปื่อย ถึงกลับมาระบาดอย่างรุนแรง ทั้งที่เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ทำวัคซีนป้องกันให้กับวัวที่เลี้ยงไว้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไม่ได้ ซึ่งการแพร่ระบาดในรอบนี้ สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในตำบลกลอนโด รวมแล้วมากกว่าหนึ่งล้านบาท

อีกทั้งในช่วงนี้ เริ่มที่จะกลับมามีฝนตกอย่างต่อเนื่องอีก เกษตรกรเกรงว่า อาจจะทำให้การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงอีกครั้ง จึงอยากขอให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามาดูแลช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน ไม่ปล่อยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในตำบลกลอนโด ต้องเผชิญกับโรคปากเท้าเปื่อยกันตามยถากรรมเช่นนี้

ปรีชา ไหลวารนทร์ / กาญจนบุรี

Loading