วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

นครปฐม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดบ้าน 3 ศิลปินแห่งชาติ พ่อหวังเต๊ะ แม่ประยูร แม่ศรีนวล เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ

นครปฐม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดบ้าน 3 ศิลปินแห่งชาติ พ่อหวังเต๊ะ แม่ประยูร แม่ศรีนวล เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดนครปฐม เวลา 10.00 น. ณ แหล่งเรียนรู้เพลงพื้นบ้านภาคกลาง ลำตัดพ่อหวังเต๊ะ แม่ศรีนวล ตำบลลำลูกบัว อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธีเปิดบ้าน 3 ศิลปินแห่งชาติ พ่อหวังเต๊ะ แม่ประยูร แม่ศรีนวล เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ (คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปีพุทธศักราช 2562) โดยมี นายอนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดบ้าน 3 ศิลปินแห่งชาติ นายเอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2563 เป็นประธานเปิดนิทรรศการ

ดร.สุดารัตน์ พงศ์อัมพรไกวัล วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม คณะทำงานการจัดงานเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติฯ ได้บูรณาการงาน ในการเปิดบ้าน 3 ศิลปิน ในครั้งนี้ สำหรับการเปิดบ้าน 3 ศิลปินแห่งชาติ พ่อหวังเต๊ะ แม่ประยูร แม่ศรีนวล ได้มีการนำเยี่ยมชมนิทรรศการ ของ 3 ศิลปินแห่งชาติฯ โดยมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการแสดงลำตัด และเพลงพื้นบ้าน อาทิ ชุดการแต่งกายในการแสดงลำตัด ของคุณพ่อหวังเต๊ะ คุณแม่ประยูร และคุณแม่ศรีนวล เครื่องแต่งหน้าที่ใช้ในการแสดงลำตัด กลองรำมะนา เหล็กงัดหวาย ขึงกลอง ลิ่มขึงกลอง สมุดเล่มใหญ่สำหรับเขียนเนื้อลำตัด กรับจากไม้ชิงชัน และนำชมสวนเกษตร “สวนลิ-ธรรมลำตัด” ในบริเวณแหล่งเรียนรู้จะปลูกพืชผักสมุนไพร เกษตรอินทรีย์นานาชนิด อาทิ ผักสลัดคอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักดอกไม้กวาด หม่อน สะระแหน่ แก้วมังกร พริกหลากหลายพันธุ์ บ่อเพาะเลี้ยงปลาและกุ้ง เป็นต้น

จุดเริ่มต้นเส้นทางชีวิตของ “หวังเต๊ะ” นายหวังดี นิมา หรือที่รู้จักกันดีในนาม “หวังเต๊ะ” นักลำตัด เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีฉลู ตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2468 ที่ตำบลท่าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี บิดาชื่อ นายเต๊ะ นิมา หรือนายหวังเต๊ะ มารดาชื่อ นางลำใย นิมา หวังเต๊ะจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี อันเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน ในละแวกบ้านเกิดของหวังเต๊ะนั้นมีการหัดกระบี่กระบอง ชกมวย หวังเต๊ะมีใจรักมาตั้งแต่เด็กจึงให้ความสนใจในเรื่อง กระบี่กระบอง แต่ที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ “ลำตัด” หวังเต๊ะ ได้รับการถ่ายทอดมรดกอันล้ำค่ามาจากบิดาแทบทุกขั้นตอน หรือสืบทอดเจตนารมณ์มาทั้งหมดก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นลีลา ท่าทาง การแต่งเพลง ริเริ่มสร้างสรรค์ในวัยเด็กมักติดตามบิดาไปในที่ต่าง ๆ เพื่อดูและศึกษา พอมีความสามารถบิดาก็นำออกแสดงด้วย ร่วมแสดงกับบิดาอายุราว 13 ถึง 15 ปี นอกเหนือจากลำตัดแล้วยังชำนาญเพลงพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย เพลงขอทาน ฯลฯ เป็นต้น บิดาเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2505 หวังเต๊ะจึงได้ตั้งคณะเป็นของตนเองแล้วได้เป็นหัวหน้าคณะลำตัดเมื่ออายุ 26 ปีคุณพ่อหวังดี นิมา หรือหวังเต๊ะ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) พุทธศักราช 2531

นางประยูร ยมเยี่ยม เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 เป็นชาวจังหวัดนนทบุรี เป็นธิดาของนายคลาย นางจีบ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดศาลาวัล นางประยูร ยมเยี่ยม เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนที่มีความจำดี อ่านบทร้อยแก้วร้อยกรองได้ไพเราะ เมื่อจบการศึกษาใช้ชั้นต้น คุณตาซึ่งมีความตั้งใจอยากให้เป็นนักร้อง นักแสดง จึงนำตัวไปที่วัดต้นเชือก พบกับคนชื่อแดง เพื่อที่จะพาให้ไปพบครูที่จะสอนเพลงพื้นบ้าน “ลำตัด” เริ่มหัดเพลงพื้นบ้าน “ลำตัด” มีอายุ 13-14 ปี หลังจากฝึกฝนจนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองแล้ว ได้เริ่มแสดงลำตัดครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี และเมื่ออายุได้ 18 ปี ได้เข้าไปอยู่กรุงเทพฯ กับลำตัดคณะแม่จรูญ ลำตัดคณะแม่จรูญเป็นลำตัดที่มีชื่อเสียง ทำให้นางประยูรได้รับการฝึกฝนในเรื่องลำตัดให้มีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น และแม่จรูญได้ถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านลำตัดให้โดยไม่ปิดบัง เป็นศิลปินผู้มากความสามารถ มีความโดดเด่นด้านศิลปะเพลงพื้นบ้าน โดยเข้าสู่อาชีพตั้งแต่อายุ 13 ปี จนมีความชำนาญพิเศษในการแสดงลำตัด ในนามลำตัด “แม่ประยูร” ลำตัดแม่ประยูรได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงโด่งดังควบคู่กับลำตัดคณะหวังเต๊ะมาเป็นเวลานาน นอกจากชำนาญด้านลำตัดแล้ว แม่ประยูร ยมเยี่ยม ยังมีความสามารถในเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ และเพลงขอทาน กล่าวได้ว่า นางประยูร ยมเยี่ยม เป็นศิลปินที่มีความสามารถรอบตัว มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้ยืนยาวได้อย่างน่าภาคภูมิยิ่ง สามารถนำการแสดงพื้นบ้านไปแสดง ยังต่างประเทศจนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งยังสามารถใช้การแสดงพื้นบ้าน “ลำตัด” เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ เป็นครูถ่ายทอดศิลปะให้แก่บุคคลและสถาบันต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ คุณแม่ประยูร ยมเยี่ยม ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ลำตัด) พุทธศักราช 2537

นางศรีนวล ขำอาจ เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2490 ณ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ นายผ่อง และนางใบ ขำอาจ บิดา มารดา ประกอบอาชีพทำนา เป็นบุตรคนที่ 8 ในจำนวนพี่น้อง 12 คน สมรสกับนายหวังดี นิมา หรือหวังเต๊ะ มีบุตรหญิง 1 คน คือ นางสาวนิรามัย นิมา และในปี พ.ศ. 2550 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์

นางศรีนวล มีความสนใจใฝ่รู้ในศิลปะการแสดงพื้นบ้านมาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยสามารถจดจำคำร้อง ท่ารำ และฝึกฝนด้วยตนเอง หลังจบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดกลางคลอง (วัดปุรณาวาส) เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ด้วยความสนใจและมีใจรักศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน (ลำตัด) มาตั้งแต่วัยเยาว์ หลังจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ได้ศึกษาต่อ จึงไปขอฝึกหัดการแสดงพื้นบ้าน (ลำตัด) จากครูเต๊ะ นิมา ซึ่งเป็นบิดาของนายหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) นับเป็นครูคนแรกในสายศิลปะการแสดง หลังจากศึกษาและฝึกซ้อมการร้องลำตัดจากครูเต๊ะ นิมา เพียง 3 เดือน ก็สามารถออกแสดงลำตัดเป็นครั้งแรกได้ใน “คณะบุญช่วย” ผู้เป็นน้องชายของนายหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) จนกระทั่งปี พ.ศ. 2506 แม่ทองเลื่อน ครูลำตัดอาวุโสเห็นความสามารถ จึงสนับสนุนให้นางศรีนวล เข้าร่วมกับคณะลำตัดของพ่อหวังเต๊ะ นิมา และแม่ประยูร ยมเยี่ยม เพื่อให้เป็นนักแสดงหลักอีกคนหนึ่งของคณะ นับแต่นั้นเป็นต้นมา และใน พ.ศ. 2526 นางศรีนวลก็ได้รับหน้าที่แต่งบทร้องสำหรับ แม่เพลงในคณะลำตัด “หวังเต๊ะ” อีกหน้าที่หนึ่ง และประกอบอาชีพศิลปินเพลงพื้นบ้านมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งหวังเต๊ะเสียชีวิต นางศรีนวลก็ยังคงสืบสานปณิธานของหวังเต๊ะที่หวังว่าลำตัดจะไม่สูญหายไปจากแผ่นดินไทย โดยรับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้ดูแล ควบคุมคณะลำตัด “หวังเต๊ะ” ออกแสดงในงานต่าง ๆ และยังรับหน้าที่เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ด้านเพลงพื้นบ้านให้แก่ผู้สนใจ หน่วยงานต่าง ๆ สถานศึกษาทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนใจในศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน “ลำตัด” รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ต้องโทษที่อยู่ในเรือนจำ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการสืบสานศิลปะวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านโดยไม่คิดค่าตอบแทนแต่อย่างใด

สิ่งที่ภาคภูมิใจ และเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตของคุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ในปี พ.ศ. 2513 ได้ร่วมแสดงลำตัดคณะ “หวังเต๊ะ” หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานเปิดอนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งหลังจากนั้น ท่านก็ได้ร่วมแสดงหน้าพระที่นั่งพระบรมวงศานุวงศ์ อีกหลายครั้ง ด้วยประสบการณ์ การแสดงลำตัดและเพลงพื้นบ้านมาตลอดช่วงชีวิต ในปัจจุบันนางศรีนวล ขำอาจ มีอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญในการส่งเสริมและเผยแพร่การแสดงลำตัดและเพลงพื้นบ้าน คือการเป็นครู อาจารย์พิเศษ วิทยากร ที่ปรึกษา ให้กับหน่วยงาน สถาบันการศึกษามากมาย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน แต่งบทร้องและฝึกซ้อมการแสดงลำตัดให้กับหน่วยงานต่าง ๆ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ดูแลควบคุมคณะลำตัด “หวังเต๊ะ” รับแสดงในงานต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเปิดบ้านพักเป็น “แหล่งเรียนรู้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ลำตัดและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ แม่ศรีนวล” เพื่อถ่ายทอดศิลปะการแสดงให้แก่ เด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายคุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน – ลำตัด) พุทธศักราช 2562

จากการสั่งสม สืบสานภูมิปัญญางานแสดงลำตัด และเพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย เพลงขอทาน มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากรุ่นบิดาของคุณพ่อหวังเต๊ะ นับเป็นคุณค่าที่นับมูลค่ามิได้ เปรียบดั่งเพชรที่เจิดจรัสแสงมาอย่างยาวนาน ในปัจจุบันคุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ได้สืบสานปณิธานของคุณพ่อหวังเต๊ะไว้ได้อย่างมั่นคง โดยได้นำภูมิปัญญา การร้อง ลำตัด และเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ถ่ายทอดไปยัง เด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มีความรักในภาษาไทย ศิลปะในการร้อง การรำ และเสน่ห์ของเสียงดนตรีจากกลองรำมะนา อันเป็นภูมิปัญญาไทย “แหล่งเรียนรู้เพลงพื้นบ้านภาคกลาง ลำตัดพ่อหวังเต๊ะ แม่ศรีนวล” มิใช่เป็นสถานที่เพื่อศึกษาภูมิปัญญาเพลงพื้นบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นบ้านอีกหลังที่มีความอบอุ่น มีรอยยิ้มในการเปิดต้อนรับให้แก่ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้เพลงพื้นบ้านของไทย ดั่งปณิธาน ของคุณพ่อหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) ภาพแห่งความทรงจำที่คุณพ่อหวังเต๊ะควงกรับทำจากไม้ชิงชัน ร้องเพลงขอทาน เป็นท่าทางที่หาคนสู้หรือเลียนแบบได้ยาก ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำให้ผู้คน ได้ระลึกถึงเสมอ และประโยคที่คุณพ่อหวังเต๊ะจะสอนให้แก่คณะลำตัด และลูกศิษย์ตลอดมา ซึ่งคุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ได้นำมาถ่ายทอดจวบจนปัจจุบันนี้ คือ “ร้องให้สุดคำ รำให้สุดแขน”

ชนิดา พรหมผลิน
ผู้สื่อข่าวนิวส์รีพอร์ต รายงาน

Loading