วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

กาญจนบุรี ชาวบ้านเริ่มเดือดร้อนกับโขลงช้างป่า

กาญจนบุรี ชาวบ้านเริ่มเดือดร้อนกับโขลงช้างป่า วันนี้ส่งจ่าฝูงเข้ามาดูลาดเลาแล้ว!! เจ้าหน้าที่ อช.ทองผาภูมิ ช่วยชาวบ้านเจ้าของสวนยาง ไร่มันสำปะหลัง ผลักดันช้างป่าที่ออกจากป่ามาหากินในพื้นที่ทำกินชาวบ้าน ให้กลับเข้าป่า

วันนี้ 24 ก.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่พื้นที่ไร่ของชาวบ้านใน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชน ที่ปลูกมันสำปะหลัง และ ยางพารา ซึ่งมีพื้นที่ติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ นายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ฯ จากสำนักงานฯเขาเย็น จำนวน 6 นาย มาช่วยชาวบ้านและจิตอาสา ในการผลักดันช้างป่า จำนวน 5 ตัว ซึ่งมีช้างป่าที่ชื่อไอ้ด้วนหนองแดง ( หางด้วน) ซึ่งไอ้ด้วนหนองแดงเข้ามากินมันสัมปะหลังที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้ โดยวนเวียนหากินในพื้นที่มานาน 5-6 วัน โดยมีพื้นที่ไร่มัน โดนไอ้ด้วนหนองแดง พาเพื่อนถอนต้นมันมากิน มาเล่น เสียหายตั้งแต่ละรายไม่ต่ำกว่า 1 ไร่ ไปจนถึงไม่กี่ตารางเมตร

นอกจากไร่มันแล้ว ไอ้ด้วนหนองแดงกับเพื่อนยังได้ เกเร ด้วยการทำให้ต้นยางของชาวบ้าน เสียหายจากการเอาสีข้างไปสี ไปดัน ผลจากที่มีช้างป่าเข้ามาหากินในสวนยาง สวนมัน ส่งผลให้ชาวบ้านที่มีอาชีพรับจ้างกรีดยาง ในหมู่บ้านเริ่มไม่กล้าออกไปกรีดยาง เนื่องจากเกรงจะได้รับอันตรายจากช้างป่า ทำให้ขาดรายได้ ซ้ำเติมปัญหาโควิด -19 ที่ระบาดในพื้นที่จนให้หลายครอบครัวเริ่มเดือดร้อน

วันนี้จึงได้นัดหมายกันมาช่วยกันผลักดันช้างป่า ทั้งหมดกลับคืนสู่ป่า โดยวันนี้มีกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานและชาวบ้าน รวมกันกว่า 20 คน โดยใช้ประทัดยักษ์ซึ่งมีเสียงดัง นอกจากเสียงตะโกน ของชาวบ้านในการผลักดันช้างกลับเข้าป่า ซึ่งใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ช้างทั้งหมดจึงค่อยๆเดินออกจากพื้นที่สวนมันและสวนยางของชาวบ้าน เดินขึ้นเขากลับเข้าป่าไป

ซึ่งต่อจากวันนี้ชาวบ้านและจิตอาสา ก็จะต้องจัดเวรยามในการเฝ้าระวังช้าง รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของช้าง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานเขาแหลม เพื่อคอยให้ข้อมูลข่าวสารกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งไอ้ด้วนหนองแดงและเพื่อนทั้ง 6 ตัว เป็นช้างชุดแรกในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ที่ออกหากินในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่อาหารในแหล่งธรรมชาติเริ่มน้อยลง ซึ่งจะเป็นปรากฎการณ์ของช้างป่าที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่คุ้นเคยดี ซึ่งคาดว่าโขลงช้างป่าเหล่านี้ที่ลงมาเพียง 6 ตัว น่าจะเป็นการส่งจ่าฝูงลงมาดูลาดเลาพื้นที่ ก่อนที่จะไปพาโขลงช้างอีกจำนวนมากนับหลายร้อยตัวลงมาอย่างเช่นทุกปีก็เป็นได้

เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ปลายฤดูฝนจะมีช้างป่าออกมาหากินในพื้นที่รอบๆ ป่าของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ โดยเฉพาะ ในพื้นที่ ต.ห้วยเขย่ง ต.ท่าขนุน ต.หินดาด รวมทั้ง ต.ลิ่นถิ่น และ ต.สหกรณ์นิคม ซึ่งในแต่ละปีสร้างความเสียหายกับพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านจำนวนนับร้อยไร่ เนื่องจากในแต่ละปีมีจำนวนช้างป่าทองผาภูมิ ตกลูกเพิ่มขึ้นปีละ 20-30 ตัว ขณะที่ปัจจุบันคาดว่าช้างป่าทองผาภูมิ มีจำนวนมากกว่า 300 ตัว

แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงวันนี้ชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่าที่ออกมาหากินและทำลายพืชผล ทางการเกษตร ยังพบเห็นและเป็นข่าวอยู่เสมอ เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง

ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี

Loading