วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

นครปฐม วัฒนธรรมนครปฐม นำเสนอข้อมูลประกวดระดับประเทศกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลไม้และอาหาร ตำบลศาลายา

นครปฐม วัฒนธรรมนครปฐม นำเสนอข้อมูลประกวดระดับประเทศกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลไม้และอาหาร ตำบลศาลายา

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลไม้และอาหาร ตำบลศาลายา ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 ประเภทกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร โดยกลุ่มแม่บ้านฯ นำเสนอข้อมูล และจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ จากกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีนางสาวจงดี เศรษฐอำนวย ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรฯ และคณะฯ เข้าร่วมการนำเสนอข้อมูลของกลุ่มฯ พร้อมด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาประเมินผลการประกวดกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ 2564 หากผ่านการคัดเลือกในระดับประเทศ จะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ โดยได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พลับพลาที่ประทับ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ในการนำเสนอรายละเอียดข้อมูลและผลงานของกลุ่มแม่บ้านฯ ดร.สุดารัตน์ พงศ์อัมพรไกวัล วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ในฐานะที่ปรึกษา และหน่วยงานราชการที่ให้การสนับสนุน ได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดการขับเคลื่อน การดำเนินงานของกลุ่มฯ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาจากคณะกรรมการ อีกทั้งได้รับเกียรติจาก นางสาวสลาลีวรรณ ทัพทวี นายอำเภอพุทธมณฑล อาจารย์วันวิสา นิยมทรัพย์ กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายหัสนัย จิตอารีย์ อดีตนายอำเภอพุทธมณฑล อาจารย์วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ศิลปินอิสระ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมนำเสนอในมิติต่าง ๆ และประสบการณ์ ความประทับใจ และผลงานเชิงประจักษ์ และเชิงคุณภาพ ที่หน่วยงานและตนเองเคยได้รับจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลไม้และอาหาร ตำบลศาลายา

​กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลไม้และอาหาร ตำบลศาลายา เกิดจากความร่วมแรง ร่วมใจ ความรัก ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชน โดยได้น้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

โดยมีการใช้พื้นที่ของตนเองให้เกิดประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมในครัวเรือน เมื่อมีผลผลิตมากพอได้นำมารวมกลุ่มออกจำหน่ายโดยมีผัก ผลไม้สด และแปรรูป ซึ่งในปัจจุบันจะมีหน้าร้านจำหน่ายในชุมชน แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ต้องเพิ่มช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ใน Shopee (ช้อปปี้) Lazada (ลาซาด้า) Facebook (เฟสบุ๊ค) และเดลิเวอรี่ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก ทำให้เพิ่มจำนวนยอดจำหน่ายจากเดิมเป็น อย่างมาก ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันนี้ได้รับความนิยมและได้รับการสนับสนุนจากลูกค้า อาทิ ขนมผิง ชาเกสรดอกบัวหลวง (ลดไขมันในเส้นเลือด) /ชากลีบบัวหลวง (ป้องกันโรคอัลไซเมอร์) ผลิตภัณฑ์ชาได้รับการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล

ในเรื่องของสรรพคุณทางยา /ขาหมูสู้ไม่ถอย (ออกรายการครัวคุณต๋อย) / ข้าวอบใบบัว /เมี่ยงคำกลีบบัวหลวง/ มะม่วงกวน /ส้มโอ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตจะได้มีการวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยจะมีการพัฒนาผักและผลไม้ต่าง ๆ ในระบบฟรีซดราย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการทำให้แห้งเยือกแข็งแบบสูญญากาศ ในอาหาร ผัก ผลไม้ โดยจะนำกล้วยหอมทองมาพัฒนาปรุงรสต่าง ๆ กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว และอื่น ๆ ซึ่งจะพยายามที่จะผลักดันทำโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกต่อไป อีกทั้งที่ผ่านมาได้ตอบรับในการให้ข้อมูลให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อทำวิจัยในเรื่องการทำเกษตร แหล่งเรียนรู้ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม ที่เข้ามาในกลุ่มฯ และชุมชนตลอดมา ในปัจจุบันด้วยสถานการณ์ของโรคระบาดจึงได้มีการให้ปรับการให้ความรู้จากเข้ามาเรียนรู้ในชุมชน ปรับมาเป็นระบบการให้ความรู้แบบใช้โปรแกรมซูม เพราะมีความตระหนักอยู่เสมอว่าการให้ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อให้คนที่เรียนรู้นำไปประกอบเป็นอาชีพ สามารถดำรงตนอยู่ได้ เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นภารกิจอีกด้านของกลุ่มฯ โดยมีคำขวัญที่ทุกคนในกลุ่มได้สืบสานและปฏิบัติเสมอมา คือ “สินค้ามีมาตรฐาน สืบสานประเพณีดีงาม สรรค์สร้างกิจกรรมชุมชน พัฒนากลุ่มตนสู่ความยั่งยืน”



ชนิดา พรหมผลิน
ผู้สื่อข่าวนิวส์รีพอร์ต รายงาน

Loading