วันอังคาร, 16 เมษายน 2567

วิจัยเรื่อง การพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรในยุคดิจิทัล กรณีศึกษาการจัดเวทีสนทนากลุ่มผ่านโปรแกรมออนไลน์Development of agricultural extension system in digital era. Case study of focus group in an online Program.

วิจัยเรื่อง การพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรในยุคดิจิทัลกรณีศึกษาการจัดเวทีสนทนากลุ่มผ่านโปรแกรมออนไลน์

Development of agricultural extension system in digital era.Case study of focus group in an online Program.

เชาวนีฐ์ โคมแก้ว กลุ่มพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร 2143/1 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
บทคัดย่อ

​​การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรในยุคดิจิทัล กรณีศึกษาการจัดเวทีสนทนากลุ่มผ่านโปรแกรมออนไลน์ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น โดยดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์จากเอกสารความรู้ทางวิชาการ ปรึกษาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และผลการจัดเวทีสนทนากลุ่มผ่านโปรแกรมออนไลน์ ด้วย SWOT Analysis และ TOWS Matrix กลุ่มเป้าหมาย คือ เจ้าหน้าที่รุ่นใหม่และเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์สูงของกรมส่งเสริมการเกษตร จากกอง/สำนักส่วนกลาง เขต ศูนย์ปฏิบัติการ จังหวัด และอำเภอ จำนวน 30 คน โดยจัดเวที 2 เวที เวทีที่ 1 เจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ผ่านโปรแกรม Zoom เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 และเวทีที่ 2 เจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์สูง ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564

​​ผลการศึกษา พบว่า ผู้เข้าร่วมเวทีสนทนากลุ่มผ่านโปรแกรมออนไลน์ มีความพึงพอใจ ร้อยละ 100.00 มีความคิดเห็นมากที่สุดเท่ากัน 7 ประเด็น ร้อยละ 100.00 คือ 1) ประเด็น/เนื้อหาสาระมีประโยชน์ 2) ขั้นตอน/กระบวนการจัดเวทีมีความเหมาะสม 3) ระบบโปรแกรมออนไลน์ใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้/ประสบการณ์ร่วมกันได้ 4) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีประโยชน์กับตนเองและกรมส่งเสริมการเกษตร 5) การจัดเวทีออนไลน์มีความคุ้มค่ากับตนเองและกรมส่งเสริมการเกษตร 6) สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัล / E – Extension มาใช้ในระบบส่งเสริมการเกษตรให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ และ 7) ข้อมูลจากเวทีนี้นำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรได้

​​การพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรในยุคดิจิทัล ได้โมเดล (Model) การพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร T&V System (8M+1F) สรุปดังนี้ 1) วิธีการ (Method) พัฒนา T&V System ทั้ง 5 องค์ประกอบ ให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและสถานการณ์ ภายใต้บริบทของแต่ละพื้นที่ ด้วยวิธีการทำงานสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของบุคลากรและเพิ่มศักยภาพเกษตรกร/องค์กรเกษตรกร 2) บุคลากร (Man) พัฒนาบุคลากรทุกคน ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเรียนรู้แบบผสมผสานทั้งเจตคติ ความรู้ ทักษะเฉพาะและเทคโนโลยีดิจิทัล 3) ข้อมูลที่เพียงพอ (More Data) การนำเข้าข้อมูลที่ถูกต้อง การพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลและคลังข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูลในทุกภาคส่วน 4) วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ (Material , Machine) สนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอและอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน 5) ขวัญและกำลังใจ (Morale) ให้ความสำคัญในการดูแลบำรุงขวัญกำลังใจของบุคลากร 6) ข้อมูลข่าวสาร (Message) การสร้างการรับรู้ เจตคติที่ดี และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน ถูกต้อง และเชื่อถือได้ ผ่านสื่อออนไลน์ Social Network และช่องทางอื่น ๆ 7) เกษตรกร/องค์กรเกษตรกร เลือกวิธีการส่งเสริมให้เหมาะสมกับเกษตรกร/องค์กรเกษตรกร สถานการณ์ และเทคโนโลยีที่หลากหลาย และ 8) การติดตามและประเมินผล (Monitoring & Evaluation) อย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องคำสำคัญ พัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร สนทนากลุ่ม โปรแกรมออนไลน์ เทคโนโลยีดิจิทัล

​ ​

ขอขอบคุณอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร ผู้เข้าร่วมเวทีสนทนากลุ่มผ่านโปรแกรมออนไลน์ทั้งจากกอง/สำนักในส่วนกลาง เขต ศูนย์ปฏิบัติการ จังหวัด และอำเภอ เจ้าหน้าที่กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร และผู้มีอุปการะคุณทุกท่าน มา ณ ที่นี้

เชาวนีฐ์ โคมแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร

Loading