หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเป็นประธานการประชุมเร่งรัดติดตามการบริหารจัดการนำ้ทั้งระบบ

หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานการประชุมเร่งรัดติดตามการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จังหวัดนราธิวาส ระบุนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย เร่งรัดติดตามการจัดทำแผนบูรณาการในพื้นที่ เพื่อบรรจุไว้ในภาพรวมของการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบของรัฐบาล


วันนี้ (31 พ.ค.60) พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม/หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานการประชุมเร่งรัดติดตามการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องประชุมพระนราภิบาล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม


พลเอก อุดมเดช สีหบุตร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความห่วงใยในสถานการณ์ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้บางพื้นที่ของภาคต่าง ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร แม้ว่าจะไม่ใช้น้ำหลากจากภาคเหนือก็ตาม แต่ก็มีผลกระทบอย่างมาก ส่วนภาคใต้มีฝนเริ่มตกชุก ทำให้เกิดความห่วงใย ประกอบกับ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 นายกรัฐมนตรีเดินทางลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่ง 5 เดือนที่ผ่านมา ได้สั่งการให้จัดทำแผนเพื่อรองรับการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ครอบคลุมทั้งน้ำท่วม การขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ปัญหาที่จะเกิดขึ้นนี้จะเชื่อมโยงกันเป็นพื้นที่ใหญ่ จึงได้เกิดมีการบูรณาการในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้

“…ไม่ยินดีที่ได้ยินว่า มีน้ำมาแล้ว สถานการณ์ความรุนแรงลดลง คงไม่เกี่ยวกัน แต่ว่าสร้างผลเสียหาย รวมถึงประชาชนเสียชีวิต ทุกฝ่ายต้องพยายามวางแผนให้ได้ จากวันที่นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ ผ่านไป 5 เดือนแล้ว ทาง ศอ.บต.ประสานงานบูรณาการความร่วมมือทำแผนแต่ละจังหวัด และแผนภาพรวมที่จะบูรณาการกันเพื่อให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม…”


ทั้งนี้แผนบริการจัดการน้ำทั้งระบบดังกล่าว จะนำส่งไปรวบรวมบรรจุไว้กับการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบของรัฐบาลต่อไป

ด้านนายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า รัฐบาลมอบหมายให้ ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่จังหวัดชานแดนภาคใต้ ซึ่ง ศอ.บต.ได้ดำเนินการบูรณาการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีการรับทราบและหารือแนวทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขุดลอกสิ่งกีดขวาง สิ่งล่วงล้ำลำนำที่ผิดกฎหมาย

ขณะที่นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559
ที่ผ่านมา จังหวัดนราธิวาสเกิดอุทกภัย 4 ช่วง ในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 145,686 คน มีผู้เสียชีวิต 3 คน อย่างไรก็ตามทางจังหวัดได้ร่วมกับทุกภาคส่วนโดยใช้แนวทางประชารัฐของรัฐบาล ดำเนินการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึงปัญหาภัยแล้ง

 

ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ

Loading