วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสเปิดหลักสูตรการประดิษฐ์ของชำร่วยจากเศษไม้

วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส เปิดหลักสูตรการประดิษฐ์ของชำร่วยจากเศษไม้ โดยการนำอัตลักษณ์ของมาลายูถิ่นมาเป็นของชำร่วย ผสมผสานกับอุปกรณ์เหลือใช้ในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นสิ่งมีค่า ร่วมอนุรักษ์ให้อยู่คู่แผ่นดิน

ซึ่งในตำบลบางขุนทอง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นตำบลหนึ่งที่มีการทำถ่านเป็นอาชีพเสริมในครัวเรือน จึงทำให้มีเศษไม้เหลือใช้ทิ้งขว้างไว้ข้างบ้านเป็นขยะที่รกตาในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเศษไม้เก่าที่เหลือใช้มาทำประโยชน์ให้มีมูลค่า และสามารถทำรายได้อย่างดีสำหรับผู้ที่สนใจและมีเวลาว่าง จึงเปิดหลักสูตรการประดิษฐ์ของชำร่วยจากเศษไม้ขึ้นมา เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีงานทำให้กับผู้ว่างงานและสนใจในพื้นที่ตำบลบางขุนทอง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยมีผู้เข้าอบรมทั้งหมด 40 คน
นายยุทธนา พรหมณี ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส กล่าวว่า หลักสูตรการประดิษฐ์ของชำร่วยจากเศษไม้เก่าที่ไม่ถูกนำไปใช้ประโยขน์ และทิ้งไว้เฉยๆในบริเวณบ้าน แต่สามารถนำมาดัดแปลงทำประโยชน์ให้สวยงามและมีราคาขึ้นมาได้ จึงจัดวิทยากรท้องถิ่นที่มีความรู้ในด้านการแกะสลักไม้ และเป็นผู้มีความรู้ทางด้านอัตลักษณ์ของชาวมาลายูท้องถิ่นในอดีตมาถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้าอบรม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปอีกแคนงหนึ่งที่กำลังจะหาดูยาก และเสี่ยงต่อการศูนย์หายไปจากท้องถิ่นและเพื่อให้คงอัตลักษณ์มาลายูให้อยู่ต่อไปนานเท่านาน และเป็นการส่งเสริมการมีงานทำของผู้ว่างงานในตำบลบางขุนทอง และสามารถนำของที่ระลึกไปจัดจำหน่ายเป็นของฝากให้กับผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดนราธิวาส


ในการประดิษฐ์ของชำร่วยในครั้งนี้ มีการประดิษฐ์ พวงกุญแจที่เขียนเพ้นท์เป็นภาษาอาหรับ และลวดลายมาลายู โดยการนำกริช ซึ่งเป็นอาวุธที่คู่กายชายมาลายูในอดีต ซึ่งเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของคนทั้งในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ที่เขี่ยบุหรี่ พวงกุญแจนานาชนิด กระถางต้นไม้จากไม้ที่แสดงถึงความเป็นอารยธรรมมาลายูในท้องถิ่น โดยของชำร่วยที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้น ทางวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส ได้นำไปวางจัดจำหน่ายที่ ศูนย์สินค้า โอท๊อปนราธิวาส เพื่อเป็นของฝากจากนราธิวาส และสามารถนำรายได้จากการขายไปต่อยอดในการประดิษฐ์ของชำร่วยต่อไป
นาย อีรียาส บินเจ๊ะเต๊ะ ผู้เข้าอบรม ได้กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส ได้เปิดอบรมหลักสูตรนี้ขึ้นมา เพราะทำให้เราสามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งสามารถอนุรักษ์อัตลักษณ์มาลายู และเป็นการเผยอัตลักษณ์มาลายูให้ผู้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักผ่านของชำร่วยที่เขาได้ประดิษฐ์ขึ้นมา ซึ่งสามารถนำไปขายให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมเยียน จ.นราธิวาส ให้แพร่กระจายให้คนในพื้นที่อื่นได้รู้ได้เห็น และได้รู้จักสิ่งประดิษฐ์สวยๆงามๆจากฝีมือของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง และสามารถสร้างรายได้งามแก่ผู้เข้าอบรมอีกด้วย..

ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ

Loading