วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

รมช.ศึกษาธิการ นำหลักศาสตร์พระราชากับพัฒนาทางกาศึกษา

รมช.ศึกษาธิการ นำหลักศาสตร์พระราชากับพัฒนาทางการศึกษา ชี้นำผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาฯ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่องศาสตร์พระราชา กับพัฒนาการทางการศึกษาแก่ผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเน้นย้ำปลูกฝังนักเรียน นักศึกษายึดมั่นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 16 มิถุนายน 2560 ที่ห้องพุทธรักษา อาคารอเนกประสงค์สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางมาบรรยายพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชา กับพัฒนาการทางการศึกษา” แก่ผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ (นบส.ศธ.) รุ่นที่ 7 จำนวน 100 คน โดยสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้น เพื่อสร้างนักบริหารและนักบริหารทางการศึกษาระดับสูงให้เป็นผู้มีวิสัยทัศน์และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นผู้บริหารที่มีคุณธรรม จริยธรรมเป็นแบบอย่างที่ดีขององค์กร เป็นข้าราชการต้องปฏิบัติโดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “ศาสตร์พระราชา กับการพัฒนาการทางการศึกษา” ซึ่งศาสตร์พระราชาแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนด้วยการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยทรงพัฒนาด้านการศึกษา ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนมาโดยตลอด เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง แม้แต่ผู้ที่ด้อยโอกาส และสถานที่ที่ห่างไกล นอกจากนี้พระองค์ทรงสอนให้คนไทยยึดมั่นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ขยันหมั่นเพียร มีความซื่อสัตย์สุจริต การเป็นสุภาพชน อ่อนน้อมถ่อมตน อันเป็นคุณงามความดีของคนไทย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำขอให้ผู้บริหารสถานศึกษา ได้ช่วยกันขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัดเป็นหลัก คือ 1.ความพอเพียง 2.ความกตัญญู 3.ความซื่อสัตย์สุจริต 4.ความรับผิดชอบ และ5.ความมีคุณธรรมจริยธรรม ทั้งหมดนี้จะเกิดความสำเร็จได้ต้องพึ่งครู อาจารย์ ในการช่วยทำหน้าที่เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นภารกิจของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้บรรลุสู่ความสำเร็จ นอกจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง สังคมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนยังต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เพื่อให้ลูกหลานเยาวชนเป็นอนาคตของชาติ สังคมมีความเจริญ ความมีสติรอบคอบ ความรับผิดชอบชั่วดี ความเพียร ความมีไมตรีจิตของคนไทย ความเมตตากรุณา ความสุภาพซื่อตรง ความกตัญญูรู้คุณบรรพชน และพฤตินิสัยที่เรียกว่าปากกับใจและการกระทำที่ต้องตรงกัน สังคมย่อมมีความร่มเป็นสุขเกิดขึ้นตามมา

Loading