วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

นครปฐม ผลิตภัณฑ์จักสานจากผักตบชวาแปรรูปสร้างรายได้

​นครปฐม ผลิตภัณฑ์จักสานจากผักตบชวาแปรรูปสร้างรายได้
ที่ ศูนย์พัฒนากลุ่มอาชีพบ้านลานแหลม หมู่ 4 ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2560 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ได้พบกับ กลุ่มจักสานผักตบชวาตำบลวัดละมุด โดยมีนายสุรชาติ แก้วทองคำ พัฒนาการอำเภอนครชัยศรี และนางสุนันท์ ศรนุวัตร ประธานกลุ่มจักสานผักตบชวาตำบลวัดละมุด พร้อมสมาชิกฯ ให้การต้อนรับ

จากการสอบถาม นางสุนันท์ ประธานกลุ่มจักสานผักตบชวาตำบลวัดละมุด ได้เล่าว่า แรกเริ่มได้มีการรวมกลุ่มกันฝึกหัดจักสานผักตบชวา ตั้งแต่ปี 2534 โดยมีสมาชิก 15 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนทั้งหมด และมีตนเองเป็นแกนนำ ด้วยการเริ่มจากการศึกษาและนำผลิตภัณฑ์จักสานมาแกะออกเพื่อเป็นแบบ ในการทำผลิตภัณฑ์จักสานจากผักตบชวา ด้วยการเก็บผักตบชวาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่นำขึ้นมาเป็นวัตถุดิบ วัดขนาดให้ได้ตามต้องการแล้วนำไปตากแดดให้แห้งประมาณสองอาทิตย์ ก่อนนำมาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะมาแบ่งงานกันในกลุ่มสมาชิกที่ถนัดจักสานประเภท ตะกร้า กระเป๋า ฯลฯ ก่อนที่สมาชิกจะแยกย้ายกันไปทำตามบ้านของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่สมาชิกจะมีอาชีพเป็นเกษตรกร เมื่อว่างจากงานประจำก็จะมาจักสานจากผักตบชวา หรือบางครั้งมารวมกลุ่มกันทำที่ศูนย์แห่งนี้ เมื่อมีผู้มาศึกษาดูงาน และเยี่ยมชม เป็นการทำอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน โดยผลิตภัณฑ์จักสานจากผักตบชวา ที่เป็นชิ้นงานแล้วทางกลุ่มจะนำไปจำหน่าย โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่ขายจากพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทยให้พื้นที่จำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายการเช่าพื้นที่ทุกวัน และยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด ให้ใช้พื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลังเก่า ในจัดตั้งและพัฒนากลุ่มอาชีพบ้านลานแหลม รวมทั้งพัฒนาการชุมชนอำเภอนครชัยศรี ได้ประสานกับเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในชุมชนต่างๆ ที่เป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนในการนำผลิตภัณฑ์จักสานจากผักตบชวาไปจำหน่าย

ทางด้านนายสุรชาติ แก้วทองคำ พัฒนาการอำเภอนครชัยศรี ได้กล่าวว่า เมื่อปีพ.ศ. 2559 กรมพัฒนาชุมชนได้มีโครงการส่งเสริมการสร้างสัมมาชีพชุมชนและทางกลุ่มได้เข้าร่วมจนสามารถจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพตามแนวทางสัมมาชีพชุมชนในปี 2560 และผลิตภัณฑ์จักสานผักตบชวาของกลุ่มจักสานผักตบชวาตำบลวัดละมุด ได้จดเป็นวิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งยังได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า OTOP ของตำบลวัดละมุดอีกด้วย ซึ่งหากพื้นที่ใดต้องการศึกษาการจักสานผักตบชวา สามารถติดต่อมายังกลุ่มจักสานผักตบชวาวัดละมุดได้ เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน อีกทั้งยังเป็นการลดจำนวนผักตบชวาที่มีมากในทุกพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

Loading