วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ผวจ.นครศรีนำผู้ประกอบการ ผู้นำท้องถิ่น ชุมชม เครือข่ายประชาสัมพันธ์ศึกษาดูงานการจัดการ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ผวจ.นครศรี นำผู้ประกอบการ ผู้นำท้องถิ่น ชุมชน และเครือข่ายประชาสัมพันธ์ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางไปศึกษาดูงาน การจัดการ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสปาบ่อน้ำร้อน ในพื้นที่จังหวัดระนอง

วันที่ 22-24 กันยายน 2560 นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยนายชาคริต สังขนิตย์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช นำคณะผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชนเป้าหมาย และเครือข่ายประชาสัมพันธ์ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางไปศึกษาดูงาน การจัดการ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสปาบ่อน้ำร้อน ในพื้นที่จังหวัดระนอง ตามโครงการเครือข่ายประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เครือข่ายประชาสัมพันธ์ ผู้ประกอบการ ภาคส่วนราชการต่างๆ และผู้นำชุมชนเป้าหมาย ได้ไปเก็บข้อมูลเพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัด และต่อยอดการจัดการบ่อน้ำร้อนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ พื้นที่ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน และตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายชาคริต สังขนิต์ ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในการศึกษาดูงานบ่อน้ำร้อนในพื้นที่จังหวัดระนองในครั้งนี้ได้นำคณะเดินทางไปศึกษาดูงานจุดแรกที่บ่อน้ำแร่ร้อนสวนสาธารณะรักษะวาริน ซึ่ง อยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองระนอง เป็นบ่อน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีอยู่ 3 บ่อ ทั้งบ่อพ่อ บ่อแม่ และบ่อลูก ซึ่งทั้ง 3 บ่อ มีอุณหภูมิความร้อนที่สูง 65 องศาเซลเซียส โดยได้รับการวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์บริการว่าประกอบด้วยแร่ธาตุที่สำคัญและเป็นแหล่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีสารกำมะถันเจือปนอยู่เลย จึงทำให้ไม่มีกลิ่นกำมะถัน และความบริสุทธิ์สามารถดื่มได้จากแหล่งกำเนิดโดยไม่ต้องผ่านการกลั่น กรองใด ๆ เป็นบ่อน้ำแร่ร้อนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในแง่การบำบัดรักษา และยังถือเป็นน้ำบริสุทธิ์จึงเป็นแหล่งหนึ่งที่นำไปผ่านพิธีพุทธาภิเษก เป็นน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ภายในบริเวณบ่อน้ำร้อน ได้จัดเป็นสวนสาธารณะรักษะวาริน ซึ่งเป็นบ่อน้ำแร่ร้อนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานไว้เมื่อคราวเสด็จประพาสจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2510 “รักษะวาริน” มีความหมายว่า น้ำที่ใช้รักษาโรคได้ทั้งนี้ภายในบริเวณสวนสาธารณะยังมีศาลาที่พัก และบ่อน้ำร้อนไว้บริการนักท่องเที่ยว ทั้งแบบแช่เท้า แบบแช่ทั้งตัว ปัจจุบันแหล่งน้ำพุร้อนแห่งนี้เป็นแหล่งที่สำคัญที่สุดของจังหวัดระนอง เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งชุมชน และมีศักยภาพสูง ได้รับการพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดระนอง นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำพุร้อนพรรั้ง ตั้งอยู่ที่บ้านพรรั้ง ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว โดยน้ำร้อนมีลักษณะใสสะอาด ไม่มีกลิ่นกำมะถันและก๊าซไข่เน่า บ่อน้ำร้อนพรรั้ง เกิดจากสายน้ำแร่ร้อน ที่มีอุณหภูมิสูงประมาณ 35-40 องศาเซลเซียล ไหลซึมออกมาจากผิวดิน และกระจายเป็นแอ่ง มีตาน้ำมากถึง 13 ตาน้ำ อยู่ใกล้ลำธารและมีสายน้ำธรรมชาติไหลผ่าน ภายในบริเวณบ่อน้ำร้อนได้รับการปรับสภาพภูมิทัศน์ให้สวยงาม สามารถเดินชมพันธุ์ไม้นานาชนิด มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น บ่อน้ำร้อนแบบแช่เท้า แบบแช่ทั้งตัว สำหรับบ่อน้ำแร่ร้อนพรรั้ง เป็นต้นน้ำพุร้อนบ้านพรรั้ง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมาอาบน้ำแร่ แบบใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งสภาพพื้นที่ดังกล่าวจะคล้ายกับบ่อน้ำร้อนในพื้นที่ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ ที่เป็นบ่อน้ำร้อนแบบธรรมชาติ ที่สามารถนำมาบริหารจัดการ ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ยังนำคณะไปศึกษาเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการเจ้าเรือนสปา ซึ่งบริหารจัดการโดยโรงพยาบาลระนอง เป็นศูนย์สุขภาพที่มีบริการหลากหลาย น้ำแร่ร้อนธรรมชาติ ต่อตรงสู่ เจ้าเรือนสปา อาทิ นวดฝ่าเท้า นวดตัว อบสมุนไพร สระน้ำแร่ร้อน นวดแผนไทย นวดหน้าแบบอโรมาเทอราปี ศูนย์ออกกำลังกาย และโปรแกรมรักษาสุขภาพด้วยแพทย์ทางเลือกแบบดุลยภาพ มีการนวดแบบสัมผัสบำบัด ด้วยกลิ่นและความละเอียดของน้ำมันหอมระเหยชั้นหนึ่ง ผสมผสานกับความชำนาญของเทอราปิส ส่งผลให้ระบบน้ำเหลืองหมุนเวียนได้ดีขึ้น เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายสดชื่น มีการนำน้ำแร่ธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการบำบัด รักษา ฟื้นฟูสภาพให้แก่ผู้ป่วย คนวัยทำงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น. และชมพระราชวังรัตนรังสรรค์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ถือเป็นพระราชวัง ที่มีการประกาศพระบรมราชโองการ ยกขึ้นเป็นพระราชวัง 1 ใน 19 แห่งของประเทศไทย และเป็นพระราชวัง 1ใน 6 แห่งที่สร้างขึ้นตามหัวเมือง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 เป็นพระราชวังที่สร้างจากไม้ทั้งหลัง สวยงามาก เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในการเสด็จประทับแรมของพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ และจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระนอง

นายชาคริต สังขนิต กล่าวอีกว่า ในการเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับบ่อน้ำร้อนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้นำความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้ไปปรับใช้บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถต่อยอดสร้างรายได้แก่ชุมชน

ด้านนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงโครงการศึกษาดูงาน การจัดการ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสปาบ่อน้ำร้อน ในพื้นที่จังหวัดระนอง ตามโครงการเครือข่ายประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า สืบเนื่องจากการลงพื้นที่เดินดิน กินข้าวแกง แหลงใต้ รับใช้ตนคอน นอนวัด เพื่อรับทราบ รับรู้ถึงศักยภาพ และปัญหาของแต่ละพื้นที่ทั้ง 23 อำเภอ และทำให้ได้ทราบว่าในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีบ่อน้ำร่อนโดยเฉพาะที่กรุงชิง ในอำเภอนบพิตำ ได้เห็นถึงการบริหารจัดการ ความตั้งใจของพื้นที่ แต่ยังขาดความต่อเนื่อง การพัฒนา และความร่วมมือ จึงหารือกับนายอำเภอเพื่อจะนำผู้เกี่ยวข้องไปศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อดูพื้นที่จริง ศึกษาเรียนรู้การบริหารจัดการต่าง ๆ นำความรู้ไปปรับปรุง ขยายผล พัฒนา และต่อยอดในพื้นที่ ให้ได้รับการพัฒนาไปสู่สากลในอนาคต

ส่วนนางพวงเพ็ญ บุญปก ผู้ดูแลบ่อน้ำร้อนกรุงชิง กล่าวว่า บ่อน้ำร้อนกรุงชิง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ เป็นบ่อน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิ ประมาณ 55 องศาเซลเซียส ผุดขึ้นมาจากใต้ผิวดิน โดยกิจกรรมที่ทางกลุ่มบ่อน้ำร้อนได้จัดไว้คือ กิจกรรมแช่ตัว และแช่เท้า เพื่อผ่อนคลาย โดยได้รับการดูแลโดยวิสาหกิจชุมชนที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นบ่อนํ้าพุร้อนแบบบรรยากาศท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับบ่อน้ำแร่ร้อนพรรั้ง เน้นการให้บริการที่อนุรักษ์ธรรมชาติ สำหรับในพื้นที่ตำบลกรุงชิง นอกจากจะมีบ่อน้ำร้อนสำหรับแช่ตัว แช่เท้า เพื่อผ่อนคลายแล้ว ในพื้นที่ใกล้เคียงยังมีจุดเด่น จุดขายมากมาย อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อการเกษตร ทั้ง จุดชมวิวทะเลหมอก ถ้ำหงส์ แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การแพทย์แผนไทย ฯลฯ ในการต้อนรับผู้มารับบริการและนักท่องเที่ยว จากนี้ผู้นำชุมชน มีผู้ส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคส่วนต่าง ๆ จะต้องมานั่งพูดคุยวางแผน และสนับสนุนในการพัฒนาต่อไป

พรรณี กลสามัญ/ภาพ/ข่าว

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช

24 สิงหาคม 2560

Loading