วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

มหาวิทยาลัยมหิดลเจ้าภาพการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 12

18 ก.พ. 2018
82

มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 12
หวังสร้างเยาวชนรุ่นใหม่เป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาโลกและอวกาศเป็นผู้สืบทอดดูแลโลกในอนาคต

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 วันนี้ เวลา 10.00 น. ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้จัดให้การแถลงข่าวเรื่องการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศระหว่างประเทศ ครั้งที่ 12 โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขัน ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 8 – 17 สิงหาคม 2561
​รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) เปิดเผยว่า การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ เกิดจากกลุ่มนักวิชาการที่มีความคิดและเชื่อว่าในทุกประเทศมีเยาวชนที่มีอัจฉริยะทางปัญญาอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นทรัพยากรบุคคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและของโลกร่วมกัน หากจัดให้เยาวชนเหล่านี้ได้มีโอกาสมาพบกันและแข่งขันในด้านวิชาการจะเป็นการพัฒนาความสามารถพิเศษทางปัญญาของเยาวชนให้มีความสามารถยิ่งๆ ขึ้น ส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศในระยะยาว
​สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงอุปถัมภ์โครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ทรงติดตามความเคลื่อนไหวทุกขั้นตอน พระราชทานกำลังใจและพระราชทานทรัพย์เป็นประจำทุกปี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนประเทศไทยเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ทั้งก่อนและหลังกลับจากการแข่งขันและให้จัดตั้ง “กองทุนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เพื่อโครงการโอลิมปิกวิชาการ” ซึ่งต่อมาได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้ดำเนินการจัดตั้ง มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ที่ทรงให้ความสำคัญอย่างมากต่อวงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศ

​ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การจัดการแข่งขันครั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ พระบิดาแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย และนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยชาติ” ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวิชาธรณีวิทยาและวิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศมีความสำคัญต่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์บนโลก นับเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญ เฉกเช่นเดียวกับธรณีวิทยาที่มีความสัมพันธ์กัน โลกและอวกาศ หรือธรณีวิทยากับดาราศาสตร์จึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการนำศาสตร์ด้านธรณีวิทยามาใช้ในการสำรวจแหล่งทรัพยากรของโลกหรือใช้ในการเฝ้าระวังรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก ด้านอุตุนิยมวิทยาใช้ในการคาดการณ์สภาวะอากาศ ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ใช้ในการสร้างดาวเทียมเพื่อการสื่อสารและการคำนวณเพื่อการเดินทางทางอากาศ และด้านอุทกศาสตร์เพื่อการเดินเรือทะเล เป็นต้น
​ผลจากการที่ประเทศไทยได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศและสาขาที่เกี่ยวข้องในระดับมัธยมศึกษาของประเทศไทย ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นและมีความทันสมัยตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก รวมถึงกระตุ้นให้คณะวิทยาศาสตร์และคณะที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยต่างๆ เห็นความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนในสาขาดังกล่าวให้ก้าวหน้าและทันสมัยยิ่งขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตประเทศไทยจะได้มีนักธรณีวิทยานักวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถในการศึกษา การวิจัย และมีความรับผิดชอบ ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโลกเพิ่มมากขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดการแข่งขัน เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี พร้อมต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากนานาชาติ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันจาก ๓๕ ประเทศ ซึ่งขณะนี้มีผู้แสดงเจตจำนงอย่างไม่เป็นทางการมาแล้วประมาณ ๒๐ ประเทศ นอกจากนี้ เราได้เปิดเว็บไซต์การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการไปแล้วเพื่อเป็นช่องทางบริการข้อมูลข่าวสารของการจัดการแข่งขันสำหรับผู้เข้าร่วมงานและบุคคลทั่วไป ที่ https://ieso2018.posn.or.th มีการเปิดรับสมัครพี่เลี้ยง (LIAISON) เพื่อดูแลและต้อนรับผู้ร่วมงานโดยจะรับผิดชอบรับ – ส่ง ผู้เข้าแข่งขันและอาจารย์ นักวิชาการนานาชาติ จากสนามบินจนถึงที่พักที่วิทยาเขตกาญจนบุรี มีการจัดหาและเตรียมสถานที่พักของผู้เข้าร่วมงานอย่างเพียงพอ การจัดสถานที่แข่งขัน ความพร้อมด้านระบบไฟฟ้า ระบบการสื่อสาร การจัดรถบริการรับ-ส่ง การรักษาความปลอดภัย การดูแลสุขภาพ ร้านอาหารไทยและร้านอาหารนานาชาติ

นอกเหนือจากการแข่งขัน มหาวิทยาลัยมหิดลได้ประสานงานกับจังหวัดกาญจนบุรีจัดกิจกรรมทัศนศึกษาให้ผู้ร่วมงานชาวต่างชาติได้สัมผัสกับความงดงามทางสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าของจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งเรียนรู้เชิงศิลปวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลกของจังหวัดกาญจนบุรี

ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศเป็น การบูรณาการความรู้หลากหลายสาขาวิชา เริ่มจากวิทยาศาสตร์พื้นฐาน คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา และวิชาเฉพาะต่างๆ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น ธรณีวิทยา ปฐพีวิทยา สมุทรศาสตร์ อุทกศาสตร์และบรรยากาศ และดาราศาสตร์ เป็นต้น เห็นได้ชัดเจนว่า วิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ล้วนมีความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทั้งระบบ

การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ จึงถือเป็นการกระตุ้น ให้เยาวชนของโลก ตระหนักรู้เกี่ยวกับระบบโลกของเราตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น การสร้างโอกาสให้เยาวชนซึ่งจะเป็นผู้ที่สืบทอดดูแลโลกในอนาคตเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่พึงกระทำ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศด้านต่างๆ มีส่วนทำให้สังคมโลกได้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จำนวนมากเข้ามาทำงานวิจัยที่มีคุณภาพและ มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าพอใจ แม้จะยังไม่มากเท่าที่คาดหวังก็ตาม

รูปแบบของการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ จะมีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยมีสาระครอบคลุม 3 รายวิชาหลัก ตามลำดับสัดส่วนจากมากไปน้อย คือ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยาและดาราศาสตร์ มีภาคสังเกตการณ์ และการฝึกการทำงานวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันเป็นทีมนักเรียนนานาชาติ รวมทั้งการทัศนศึกษาในสถานที่ต่างๆ ที่ทางคณะกรรมการกำหนด คาดว่าจะมีผู้เข้าแข่งขันประมาณ 35 ประเทศ แต่ละประเทศจะมีเยาวชนเข้าแข่งขันประเทศละ 4 คน และอาจารย์ผู้ควบคุมดูแลประเทศละ 2 คน และมีประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ อีกจำนวนหนึ่ง รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันครั้งนี้ประมาณ 350 คน ในระหว่างการจัดการแข่งขัน คณะกรรมการจะมีการติดตามและประเมินผลโครงการทุกขั้นตอน เพื่อนำผลที่ได้จากการประเมินมาใช้ในการปรับปรุงดำเนินงาน ซึ่งหากพบว่าการดำเนินงานขั้นตอนใดยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็สามารถแก้ไขได้ทันที โดยภายหลังการแข่งขันเสร็จสิ้นลง คณะกรรมการจะจัดทำผลสรุปการแข่งขันเพื่อเผยแพร่และนำส่งประเทศ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน

สำหรับการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศนั้น เป็นหนึ่งใน 12 สาขาโอลิมปิกวิชาการ เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกที่เกาหลีใต้ ในปี พ.ศ.2550 โดยประเทศไทยได้เริ่มส่งคณะผู้แทนนักเรียนไทยระดับมัธยมปลายเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกที่ไต้หวันในปี พ.ศ.2552 และได้ส่งคณะผู้แทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขันทุกปีตั้งแต่นั้นมา ครั้งล่าสุดที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2560 ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรวม 9 ครั้ง นักเรียนไทยได้รับรางวัล ดังนี้ เหรียญทอง 5 เหรียญ เหรียญเงิน 16 เหรียญ เหรียญทองแดง 13 เหรียญ เกียรติคุณประกาศ 1 ใบ ได้รับคะแนนรวมสูงสุดของโลก 1 ครั้ง ได้รับคะแนนสูงสุดภาคทฤษฎี 1 ครั้ง ได้รับคะแนนสูงสุดส่วนวิชาดาราศาสตร์ 1 ครั้ง

 

Loading