วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ชุดพยัคฆ์ ตรวจสอบโครงการบ้านหรู ทับที่ป่าสงวน

11 พ.ค. 2018
13

ชุดพยัคฆ์ไพร ตรวจสอบโครงการบ้านหรู”ทับที่ป่าสงวนพบมีพิรุธสั่งลุยตรวจสอบทุกแปลง

เมื่อวันนี้ 11พ.ค.2561 ที่โครงการ Paim Springs Inspired ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า และหน.ชุดพยัคฆ์ไพร นายปรีชา แสงเทียน ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี นายอัครชัย เสรีลัดดานนท์ ผอ.ส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จว.เพชรบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำกำลังกว่า 30 นาย เดินทางไป ที่โครงการ Palm Springs inspired ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ตรวจสอบกรณีได้รับการร้องเรียนจากนางปาณิสรา ฮอปกินส์ อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17/1 หมู่ 2 ต.บางหญ้าแพรก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ว่าตนเองได้ซื้อบ้านในโครงการ Palm Springs inspired ของบริษัทปาล์ม ฮิลส์โฮม จำกัด โดยผ่อนชำระให้ทางโครงการไปแล้วเป็นเงิน 6 ล้านบาทจากราคา 12 ล้านบาทเศษ ต่อมาตนเองได้นำบ้านเข้ากู้เงินกับสถาบันการเงินแต่ถูกฝ่ายสินเชื่อปฏิเสธหลังตรวจสอบพบว่า ที่ดินและบ้านดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าหมายเลข 87 ซึ่งได้

ประกาศกฎกระทรวงงให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าหมายเลข 87 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2524 สมัยนายบรรหาญ ศิลปะอาญา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเมื่อตนเองได้ไปยื่นหนังสือให้ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี ตรวจสอบก็ได้รับหนังสือตอบกลับว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าหมายเลข 87 จริง ทำให้ตนซึ่งซื้อบ้านในโครงการดังกล่าวฯ ไม่สามารถนำบ้านไปทำธุรกรรมการเงินได้ และอาจได้รับความผิดฐานครอบครองบุกรุกป่า โดยมีการลงพื้นที่ของชุดพยัคฆ์ไพรวันนี้ มีน.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี อดีต ส.ว. เพชรบุรี ในฐานะผู้ประสานการร้องเรียน พร้อมนายสุคนธ์ หนูภัคดี เจ้าพนักงานที่ดินชะอำ และนายพิษณุ เดชศรี กรรมการบริหาร บริษัทปาล์ม ฮิลส์โฮม จำกัด ร่วมให้ข้อมูล

นางปาณิสรา เปิดเผยว่าตนและสามีซึ่งเป็นชาวต่างประเทศได้ทำ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงขายเลขที่ 156 โฉนดเลขที่ 35947 ออกโฉนดวันที่วันที่ 8 กันยายน 2536 เลขที่ดิน 123 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งานพร้อมบ้าน 1 หลัง เลขที่ 1445 / 259 ในโครงการ Palm Springs inspired จากบริษัทปาล์มฮิลล์ โฮม จำกัด ซึ่งมี นายตรรก อัครเศรณี และ นายพิษณุเดชศรี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ฯ ในราคารวม 1 2,062,024 บาท ระบุผ่อนชำระรวม 36 งวด และชำระเงินไปแล้วกว่า 5 ล้านบาท ต่อมาตนได้นำบ้านขอสินเชื่อกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาหัวหิน แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสำรวจและประเมินราคา ตรวจสอบด้วย Application จากเว็บไซต์ของ DSI พบว่าที่ดินพื้นที่ตั้งบ้านของตนอยู่ในเขตป่าสงวน ตนจึงให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี ตรวจสอบอีกครั้งก็ ได้รับการว่ายืนยันว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าหมายเลข 87 ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนแหงชาติเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2524 ตนแจ้งเรื่องดังกล่าวให้โครงการฯ ทราบแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงยื่นเรื่อง ให้ สคบ.ตรวจสอบ และบอกเลิกสัญญากับโครงการฯ และอยู่ระหว่างเรียกค่าชดเชย แต่ปรากฏว่าตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีผู้ซื้อบ้านอีกกว่า 30 แปลง และพื้นที่ในโครงการฯ อีกจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบและนำพื้นที่ป่าคืน

ต่อมาประมาณวันที่ 5 มีนาคม บริษัทปาล์มฮิลล์ฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงโดยระบุว่าบริษัทฯไม่ได้มีเจตนาจะนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมายมาจำหน่าย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวบริษัทฯได้ซื้อต่อมาจากบุคคลอื่นอีกทอดหนึ่ง เป็นโครงการที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรมีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างถูกต้องตามขั้นตอน และกระบวนการทางกฎหมาย ทุกประการ อีกทั้งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงดังกล่าวเคยผ่านการทำนิติกรรมมาแล้วหลายครั้ง และปัจจุบันก็มีภาระผูกพันอยู่กับธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ทำให้บริษัทฯเชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นได้มาโดยถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่างไรก็ตามหากกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องจากหน่วยงานของภาครัฐเป็นที่สิ้นสุดเสร็จสิ้นแล้วหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทำการซื้อขายอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจริงบริษัทยินดีชดใช้ค่าเสียหายภายใต้ขอบเขตที่บริษัทต้องรับผิดชอบ
ด้านนายสุคนธ์ หนูภัคดี เจ้าพนักงานที่ดินชะอำ เปิดเผยว่า พื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนเป็นพื้นที่ที่ถูกกันออกจากป่าสงวนแห่งชาติ มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยการเดินสำรวจ และออกเป็น นส.3 ก.และเป็นโฉนดถูกต้อง เบื้องต้นได้นำพิกัดที่ดินดังกล่าวตรวจสอบไปยังกรมพัฒนาที่ดิน และได้รับหนังสือตอบกลับพบว่าพื้นที่ซึ่งมีการร้องเรียนไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ขณะที่นายชีวะภาพ ได้แย้งทันทีว่าการตรวจสอบเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งประกาศโดยกฎกระทรวงและมีแผนที่แนบท้ายกฏกระทรวง ต้องตรวจสอบจากแผนที่ท้ายกฏกระทรวงในการตรวจสอบเท่านั้น ไม่สามารถตรวจสอบจากแผนที่ของกรมพัฒนาที่ดินได้ เพราะเป็นการอ้างอิงโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย และทราบจากนายสุคนธ์อีกว่าว่าโฉนดดังกล่าวออกโดยการเดินสำรวจ

เบื้องต้นคณะเจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี ได้ตรวจสอบข้อมูลเปรียบเทียบกับแผนที่ และแอพพลิเคชั่นตรวจสอบพื้นที่ของกรมป่าไม้
หลังการตรวจสอบ นายชีวะภาพเปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่าพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนมีการบุกรุกเข้ามาในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หมายเลข 87 จริง ทั้งในส่วนของบ้านพักและพื้นที่บางส่วนของสนามกอล์ฟ
แต่มีข้อต้องตรวจสอบทางข้อมูลให้ชัดเจนเนื่องจากแนวเขตป่ามีส่วนที่ซ้อนทับกับเขตที่ดินเอกสารสิทธิ์อื่น ซึ่งต้องตรวจสอบว่าเอกสารดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าเอกสารสิทธิ์ออกโดยการเดินสำรวจก่อนปี 2521 ซึ่งก่อนมีการประกาศป่าสงวน หมายเลข 87 ที่ออกปี 2524 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวก็อาจจะถูกต้อง แต่ต้องตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งว่า อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรหรือไม่ ซึ่งมันมีแนวเขตป่าซ้อนทับกันอยู่สองชั้น คือป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าหมายเลข 87 ทั้งนี้จะต้องดูเรื่องการออก นส. 3 ก โดยการเดินสำรวจดังกล่าวว่ามีการซ้อนทับเขตป่าไม้หรือไม่ และเมื่อชุดพยัคฆ์ไพรลงมาแล้วก็จะไม่ใช่จะตรวจสอบพื้นที่แปลงนี้แปลงเดียว แต่จะตรวจสอบทุกแปลงที่มีการออกเอกสารสิทธิในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าหมายเลข 87 ในพื้นที่ 5,500 กว่าไร่ทั้งหมดในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวต้องเป็นพื้นที่ทำประโยชน์ซึ่งจะต้องนำภาพถ่ายทางอากาศมาตรวจสอบว่ามีการทำประโยชน์หรือไม่ หากไม่พบมีการทำประโยชน์ในพื้นที่และมาออกเป็นโฉนดก็ถือว่าออกโดยมิชอบเช่นกัน ทั้งนี้ผลการตรวจสอบยังพบว่าบริเวณนี้ยังมีพื้นที่บางส่วนมีการซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาติ หมายเลข 87 กับ สนามกอล์ฟ บ้าน และสิ่งปลูกสร้างอีกหลายแห่ง ซึ่งก็จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นายชีวะภาพ กล่าวต่อไปว่าจากนี้จะประสาน DSI ให้ร่วมลงมาทำคดีเนื่องจากการร้องเรียนดังกล่าวมีต้นเรื่องมาจากการที่ประชาชนตรวจสอบจาก Application จากเว็บไซต์ของ DSI พบว่าพื้นที่อาศัยของตนเองอยู่ในเขตป่าสงวน ทั้งนี้ตนยืนยันว่า Application จากเว็บไซต์ของ DSI ถูกต้อง และเชื่อถือได้ เพราะดำเนินการทำมาจากรากฐานข้อมูลตัวเดียวกันกับกรมป่าไม้และเป็นข้อมูลเดียวกับที่ชุด พยัคฆ์ภัยใช้ ในการตรวจสอบพื้นที่ป่า
ขณะที่บ่ายวันเดียวกันนางปาณิสรา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้เดินทางไปยังสำนักงานที่ดินเพชรบุรี สาขาชะอำ เพื่อขอสำเนาสารบบของที่ดินแปลงดังกล่าว เพื่อนำมาตรวจสอบ โดยนางปาณิสรา ได้ยื่นเอกสารในฐานะเป็นผู้ซื้อจำนวน 3 ชุด แต่ถูกปฏิเศษจากนายสุคนธ์ โดยยืนยันว่าให้ได้เพียงชุดเดียว และห้ามนำเอกสารไปให้หน่วยงานใดๆ จะเป็นการผิดกฎหมาย ส่วนหน่วยงานใดต้องการก็ให้ทำหนังสือขอมาเอง สร้างความแปลกใจให้กับนางปาณิสรา เนื่องจากตนเองมีสิทธิขอส่วนจะกี่ชุดก็เป็นสิทธิของตนเองเนื่องจากตนเองเป็นผู้จ่ายเงินค่าถ่ายสำเนาทั้งหมด ซึ่งได้จ่ายเงินไปแล้วแต่นายสุคนธ์ได้ให้เจ้าหน้าที่นำเงินส่วนที่เกินอีก 2 ชุด มาคืน

กสิพล ศิริลาภ/เพชรบุรี

Loading