วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ผวจ.นครศรีธรรมราช!!ติดตามสถานการณ์มังคุด ในพื้นที่”

ผวจ.นครศรีธรรมราช ติดตามสถานการณ์มังคุดในพื้นที่ พร้อมสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไปปรับแผนวางมาตรการในการดำเนินงานในอนาคต

วันนี้ (7 สิงหาคม 2561) ที่ห้องประชุมศรีปราชญ์ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรอันเนื่องมาจากผลผลิตทางการเกษตร ระดับจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์มังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับนายอำเภอ 19 อำเภอที่มีผลผลิตมังคุด เกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ผลผลิตมังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เป็นต้นมา ซึ่งผลผลิตตามที่คาดการณ์มี จำนวน 38,638 ตัน ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ราคาลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จากกิโลกรัมละ 80-100 บาท ลดลงเหลือกิโลกรัมละ 15-30 บาท ภายในสัปดาห์เดียว ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จังหวัดได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนายอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกผลไม้ทั้ง 19 อำเภอ ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามสถานการณ์มังคุด และดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยให้มีการรายงานสถานการณ์ทุกวัน จนถึงขณะนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว ประมาณ 27,199.10 ตัน คิดเป็นร้อยละ 70.80 โดยในการประชุมในวันนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสรุปสถานการณ์มังคุดในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปปรับแผนว่างมาตรการในการแก้ไขปัญหาราคามังคุดต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาราคามังคุด รวมถึงปัญหาอุปสรรคจากการปฏิบัติงาน ขณะที่อำเภอชะอวด รายงานสถานการณ์การดำเนินงานของอำเภอ หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ที่มีการรวมกลุ่มกันทำให้มีผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพมังคุด และมีอำนาจในการต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางได้ เช่นเดียวกันอำเภอจุฬาภรณ์ที่กลุ่มเกษตรกว่า 200 ราย รวมตัวและกำหนดให้พ่อค้าคนกลาง หรือผู้รับซื้อ มีการประมูลราคามังคุดในแต่ละวัน ซึ่งพบว่าทำให้ได้ราคาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ หากเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ได้มีการรวมกลุ่มเชื่อว่าการพัฒนาของผลผลิต และการเข้าไปดูแล ให้ความรู้เรื่องผลผลิตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดีขึ้นด้วย และทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และราคาดี

อย่างไรก็ตามจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังพบว่าปัญหาในเรื่องแรงงานการคัดแยกมังคุด ปัญหากลไกตลาด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการวางแผนรองรับทั้งการกำกับดูแลผู้รับซื้อมังคุด หรือ ล้ง ที่เข้ามาในพื้นที่ การสร้างการรับรู้ปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตให้มีคุณภาพ รวมถึงการทำตลาดรองรับในอนาคต ทั้งการส่งออก และภายในประเทศ นางสาวสุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าว

พรรณี มณีวรรณ/ภาพ-ข่าว
รัตนาภรณ์/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
7 สิงหาคม 2561

Loading