วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

มุกดาหาร!!ศุลกากรมุกดาหาร”พร้อมรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ”

มุกดาหาร ศุลกากรมุกดาหาร พร้อมรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร

จังหวัดมุกดาหารถูกจัดตั้งให้เป็นหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในระยะแรกตามประกาศ กนพ. ที่ 1/2558 ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย ได้แก่ ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) สามารถเชื่อมโยงสู่ลาว เวียดนาม และประเทศในแถบตะวันออกไกล(ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน) เป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งสินค้า เช่น เครื่องดื่ม ผลไม้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้ สามารถร่วมดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรมการผลิตร่วมกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (สปป.ลาว) ที่มีการลงทุนจากหลากหลายประเทศ

17.10.61 นายประพันธ์ จันทร์ไทยศรี นายด่านศุลกากรมุกดาหาร กล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมเขตเศรษฐกิจจังหวัดมุกดาหาร โดยด่านศุลกากรมุกดาหาร ดำเนินการจัดสร้างลานจอดรถสินค้าเพิ่มพื้นที่จอดรถสินค้า ในบริเวณพื้นที่ด่านกว่า 10 ไร่ และมีการดำเนินการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับเจ้าหน้าที่เป็นอาคาร 4 ชั้น เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอำนวยความสะดวกแก่รถบรรทุกสินค้าที่จะผ่านเข้า – ออก ในพื้นที่ด่านชายแดน โดยความร่วมมือบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานระหว่างด่านศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง ควบคุมโรค กักกันพืช มีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกในการข้ามชายแดน เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจ เนื่องจากด่านศุลกากรมุกดาหารเป็นจุดผ่านบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยเคลื่อนย้ายสินค้าจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก ทางแม่สอด

นายด่านศุลกากรมุกดาหาร กล่าวต่อไปอีกว่า กรมศุลกากรมีระบบพิธีการทางศุลกากรรองรับในเรื่องของการเจริญเติบโตของทางเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายสินค้า ให้มีความสะดวกรวดเร็ว มีการประสานข้อมูลกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันระหว่างเอกชนกับภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฎิบัติตามพิธีการทางศุลกากร อีกทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร ได้แก่ คลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากร เพื่อรองรับการทำธุรกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด่านศุลกากรมุกดาหารมีความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติพิธีการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางรถยนต์ ทางสนามบิน ทางรถไฟ เนื่องจากกรมศุลกากรได้ดำเนินงานโดยระบบ NSW ( National Singel Windows ) เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน

สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนในปีนี้มีมูลค่ากว่า 217,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 60 กว่า 20,000 ล้านบาท การนำเข้าและส่งออกสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ เหตุผลสำคัญคือ หลายผู้ประกอบการเลือกใช้ที่จะนำเข้าสินค้าทางด่านศุลกากรมุกดาหาร เนื่องจากสินค้าต่าง ๆ ทีจะนำเข้ามาสู่ตลาดผู้บริโภคได้เร็ว อาทิ สินค้าเบ็ดเตล็ดจากจีน มียอดนำเข้ามาสูง ยอดภาษีสูงขึ้นตามลำดับ ประกอบกับใน สปป.ลาว มีเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน มีสินค้าจากประเทศไทยส่งออกไปจำนวนมาก และส่งต่อไปในตลาด สปป.ลาว และเวียดนาม ทำให้มูลค่าชายแดนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 11 ตำบล รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 361,542 ไร่ (578.5 ตร.กม.) ดังนี้ อำเภอเมืองมุกดาหาร ครอบคลุม 5 ตำบล ได้แก่ คำอาฮวน นาสีนวน บางทรายใหญ่ มุกดาหาร และศรีบุญเรือง อำเภอหว้านใหญ่ ครอบคลุม 4 ตำบล ได้แก่ ชะโนด บางทรายน้อย ป่งขาม และหว้านใหญ่ อำเภอดอนตาล ครอบคลุม 2 ตำบล ได้แก่ ดอนตาล และโพธิ์ไทร

มุกดาหารเมืองเล็ก ๆ สงบเงียบริมแม่น้ำโขง “ จังหวัดมุกดาหาร และแขวงสะหวันนะเขต ” ถูกปลุกให้เข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ทันที หลังจากมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 เป็นต้นมา พร้อมทั้งมีการพัฒนาให้สอดคล้องไปกับเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ทั้งนี้ จังหวัดมุกดาหารมีศักยภาพสูง เนื่องจากตั้งอยู่บนเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เป็นประตูด้านตะวันออกของไทยเชื่อมเข้าสู่ สปป.ลาว และเวียดนามตอนกลาง ขณะที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นประตูด้านตะวันตกที่เชื่อมสู่ประเทศพม่า สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ น้ำมันเบนซิน เหล็กและเหล็กกล้า ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป ผลไม้และของปรุงแต่งจากผลไม้ ผัก ลวดและสายเคเบิล
อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว พบว่า จังหวัดมุกดาหารยังไม่มีโครงการพัฒนาที่โดดเด่น ขณะที่ในฝั่งสะหวันนะเขตมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากมีการผลักดันมานานเกือบ 10 ปี โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ติดกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 กำลังมีการก่อสร้างร้านค้า อาคารพาณิชย์ และบ้านพักอาศัยอย่างคึกคัก

วันนี้สะหวันนะเขตเป็นเมืองที่มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองรองจากนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นจุดศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังแขวงใกล้เคียง รวมทั้งเวียดนามและไทย และกำลังจะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ของ สปป.ลาว ปัจจุบันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (Savan-SENO Special Economic Zone) มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่โซน C หรือสะหวันพาร์ค เป็นเขตอุตสาหกรรมและการค้ามีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดนั้น บริษัท สะหวัน แปซิฟิก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กลุ่มทุนจากประเทศมาเลเซียได้เข้ามาร่วมทุนกับ สปป.ลาว พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 4,000 ไร่ …

อนุศักดิ์ – เสาวภา แสนวิเศษ / มุกดาหาร

Loading