วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

พะเยา!!สุดอลังการ”บ้านไม้ไผ่ไตญวน หลังแรกของพะเยา”

พะเยา – สุดอลังการ!! บ้านไม้ไผ่ไตญวน หลังแรกของพะเยา โชว์วิถีชุมชนโบราณ รากเหง้า ชาติพันธุ์ หวั่นเยาวชนลืมฮีตฮอย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ บ้านเปื๋อยเปียง ม.14 ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา หลังจากทราบข่าวว่ามีบ้านสร้างบ้านไม้ไผ่หลังใหญ่ตามอัตลักษณ์ของชาวไตญวน,ไตโยน หรือไทยญวน เพื่ออวดโชว์นักท่องเที่ยวตลอดจนถึงสะท้อนภาพ อัตลักษณ์ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไตญวนซึ่งเป็นคนก่อตั้งบ้านเปื๋อยเปียง
สภาพบ้านไตญวนทำจากไม้ไผ่ทั้งหลัง หลังคามุงด้วยใบคา บริเวณใต้ชายคาถูกประดับประดาด้วยโคมไฟพื้นเมืองรูปแบบทางภาคเหนือ หลากหลายสีสันสวยงาม ยิ่งช่วงยามค่ำคืนแสงไฟจากโคมไฟจะสวยงามมากยิ่งขึ้น หน้าบ้านมีซุ้มสำหรับวางหม้อน้ำดินเผาใส่น้ำไว้ต้อนรับแขก ภายในตัวบ้านทั้งฝาบ้านและพื้นบ้านใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะเสริมความแข็งแรง โดยแบ่งเป็นห้องรับแขก ห้องนอน และห้องครัว ที่จำลองอัตลักษณ์ของไตญวนไว้ทุกกระเบียดนิ้ว โดยเฉพาะเตาไฟสร้างจากดินเหนียวที่ใส่ลงตรงกลางของแบบไม้ไผ่ทรงสี่เหลี่ยมเป็นโครง เวลาที่ติดไฟทำอาหาร ไฟจะถูกติดอยู่บนดินเหนียวที่เป็นฉนวนกันความร้อนเป็นอย่างดี ซึ่งนี้ก็เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยโบราณใช้กัน

บรรยากาศรอบๆกลุ่มบ้านไตญวน อบอวลไปด้วยบรรยากาศย้อนยุค ทุกมุมสะท้อนภูมิปัญญาและศิลปะของไตญวน เริ่มตั้งแต่ประตูทางเข้า และทางเดินเข้าสู่บ้านไตญวน ทั้งสองข้างทางเดินข้ามสะพานเข้าบ้านไม้ไผ่ประดับประดาด้วยธงรูปพระประจำวันปรางค์ต่างๆ ซึ่งทางเหนือเรียกว่า “ตุงพระบท” มองแล้วเข้ากันกับบ้านไม้ไผ่เป็นอย่างยิ่ง ตรงบริเวณหลังบ้านไม้ไผ่จะมี ลำน้ำยวนใสสะอาดไหลผ่านและมีที่นั่งไม้ไผ่ไว้พักผ่อนหย่อนขาเล่นน้ำอย่างสบายอารมณ์

ด้าน ท่านพระครูสุคนธ์ ศีลวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดเปื๋อยเปียง เผยว่า ท่านได้แนวคิดจากประสบการณ์จากวัยเด็กที่เคยอยู่อาศัยบ้านไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านเปื๋อยเปียง จากสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัยบ้านไม้ไผ่รูปแบบ ไตญวน เริ่มเลือนหายไปจากสังคม ดังนั้นตนเองจึงอยากจะสร้างบ้านไม้ไผ่รูปแบบในอดีตให้ชนรุ่นหลังได้สัมผัสของจริง ใช่เพียงแค่เห็นแต่ในหนังสือภาพเท่านั้น

สำหรับบ้านไม้ไผ่ไตญวน โดยใช้เวลาเพียง 14 วัน เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม -1 พฤศจิกายน 2561 จึงแล้วเสร็จ ไม้ไผ่ใช้เป็นไม้ไผ่หลากหลายพันธุ์ในหมู่บ้านมากกว่า 5 พันเล่ม เพื่อพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวของอำเภอเชียงคำ และเป็น บ้านไม้ไผ่แห่งแรกในจังหวัดพะเยา ที่สร้างให้ยิ่งใหญ่อลังการสวยงามตามแบบไตญวน

(ภาพ/ข่าว สราวุธ ตั้งประเสริฐ พะเยา )

Loading