วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

เครือข่ายผู้หญิง 3 จังหวัดภาคใต้ จัดกิจกรรมสาธารณะ”ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ในพื้นที่ชายแดนใ้ต้”

เครือข่ายผู้หญิง 3 จ.ใต้ 350 คน จับมือภาครัฐ ผู้นำศาสนา จัดกิจกรรมสาธารณะ “ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้” เดินรณรงค์กลางตลาดนราธิวาส ชูป้าย “เราไม่ทำร้ายผู้หญิง” เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล ขณะที่สตรีเรียกร้องภาครัฐให้ พ.ร.บ.คุ้มสิทธิสตรีอย่างจริงจัง

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (พม.) เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรอ็อกแฟม ร่วมเดินรณรงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ “เราไม่ทำร้ายผู้หญิง” ในตลาดเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส โดยได้สวมเสื้อและถือร่มสีส้มเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านความรุนแรง โดยสหประชาชาติใช้สีส้ม เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความปรารถนาให้ผู้หญิงมีความสุข สดใส มากกว่าเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเวทีสาธารณะ “ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ “หน่วยงานภาครัฐ ศาสนาและประชาสังคม ต้องทำงานร่วมกัน” เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล ประจำปี 2561 ที่โรงแรมอิมพีเรียล อ.เมืองนราธิวาส โดยมีกลุ่มสตรี เยาวชน ผู้นำศาสนา หน่วยงานภาครัฐ กว่า 350 คน จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม


จากนั้น มีการกล่าวรายงานสถานการณ์ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก โดย นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิงที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามนราธิวาส เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่สตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีรูปแบบความรุนแรงในลักษณะการทอดทิ้งไม่ได้รับค่าเลี้ยงดู ถูกทำร้ายร่างกาย และสามีจำนวนมากมีการใช้สารเสพติด สำหรับสาเหตุรากลึกของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คือ วัฒนธรรมความคิดความเชื่อว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัวของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องทั้งตามหลักศาสนาและหลักกฎหมาย

นอกจากนี้ในงานยังมีการกล่าวปาฐกถา “บทบาทผู้หญิงกับการทำงานเพื่อสังคม” โดยนายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และนางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวปาฐกถา เรื่อง “ทิศทางความร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อลดความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก” ต่อด้วยการอภิปรายในเรื่องความรุนแรงในครอบครัวปัญหาใต้พรม : ชายหญิงทุกฝ่ายต้องช่วยกันยุติ” โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการอภิปราย ที่มีการกล่าวถึงประเด็นลักษณะเฉพาะของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในพื้นที่ รวมทั้งสิ่งที่เป็นนโยบายและมาตรการแก้ไข และบทบาทที่จะร่วมมือกันกับเครือข่ายผู้หญิงและภาคประชาสังคม


ทั้งนี้ ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันปกป้องสตรี เด็ก และขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมทั้งได้เชิญชวนบริจาคจัดตั้ง “กองทุนยุติความรุนแรงเพื่อเด็กและสตรี” เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือเด็ก สตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย

ผศ.ดร.กัลยา ดาราหะ รองประธานงานวิจัย Eirasia Reaearch และผู้ประนีประนอมของศาล จ.ยะลา และปัตตานี กล่าวว่า อยากเรียกการให้เกียรติผู้หญิงและการให้ความเท่าเทียมในสังคมและให้ความรักแก่ผู้หญิง ซึ้งโดยหลักการของมุสลิมยังได้ระบุไว้ว่าสวรรค์อยู่ใต้ฝาเท้ามารดา คือ ผู้หญิงนั้นเอง และผู้หญิงยังเป็นอาภรของบุรุษ และจะต้องให้เกียรติซึ้งกันและกัน และที่ผ่านมายอมรับว่าสังคมยังให้เกียรติผู้หญิงที่ไม่เพียงพอ แต่ยังไม่มีสิทธิ์ใช้เสียง หรืออาจจะด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น กลัวการหย่าร้าง ซึ่งจริงๆแล้วการทารุณกรรมหรือการดูแลผู้หญิงหรือครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องสาธารณะที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยรวมทั้งให้ความรู้แก่เยาวชนในเรื่องของการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ทุกเพศทุกวัยและทุกศาสนาหรืออยู่ในสถานะใดก็ตาม ซึ่งรู้สึกดีใจที่นราธิวาสเป็นโมเดลของการยุติความรุนแรงที่ดีและยังสามารถเข้าสู้ระบบกฏหมายอิสลามที่มีความยืดหยุ่น ประนีประนอมมากกว่าในอดีต

ผศ.ดร.กัลยา ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ตนอยากเรียกร้องให้ภาครัฐและสังคมไทยในปัจจุบันเล็งเห็นความสำคัญของอนุสัญญาซีดอที่ให้ปฏิบัติกับผู้หญิงอย่างเป็นธรรมรวมทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้หญิงอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เช่น การทารุนกรรมต่างๆ อีกทั้งอยากให้ผู้หญิงไปนั่งในสภาให้มากขึ้น เสียงเรียกร้องของผู้หญิงจะได้ดังมากกว่านี้ และจะสร้างประโยชน์และบทบาทต่อสตรี การคุ้มครองสตรีได้มากขึ้น โดยผู้ชายต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่มากกว่านี้เพื่อทำให้เดินไปพร้อมๆกันเพือให้เกิดความผ่าสุขในครอบครัวและสังคม

. ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส

Loading