วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

มทร.ธัญบุรี!!ใช้โซเชียล แล็บ”ขับเคลื่อนการเรียน 4.0”

มทร.ธัญบุรี ใช้  โซเชียล แล็บ  ขับเคลื่อนการเรียนยุค 4.0

ส่งนักศึกษาลงพื้นที่ ช่วยชุมชน แก้ปัญหาการตลาด การเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการศึกษาในปัจจุบัน โดยเฉพาะศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ ยิ่งต้องได้รับการฝึกฝน ลงมือปฏิบัติ เติมเต็มประสบการณ์ที่เข้มข้น เพื่อจะเป็นนักบริหารอย่างมืออาชีพต่อไป

ดังเช่น การจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงานผสมผสานกับบริการวิชาการ โดยให้นักศึกษาลงพื้นที่จริงในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจเอสเอ็มอี ศึกษาประเด็นปัญหา วิเคราะห์และแก้ปัญหาด้านการตลาด นำสิ่งที่เรียนมาช่วยหาคำตอบในเชิงธุรกิจ เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้ธุรกิจเติบโต ยั่งยืนและเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการขับเคลื่อนการเรียนในยุค 4.0 ของคณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี ภายใต้หัวเรือใหญ่ ผศ.ดร.นาถรพี ชัยมงคลคณบดีคณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่ใช้ห้องปฏิบัติการทางสังคมหรือ โซเชียล แล็บ บ่มเพาะว่าที่นักบริหารก่อนเข้าสู่โลกการทำงาน

การไปช่วยชุมชน แก้ปัญหาการตลาดของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการตลาด มทร.ธัญบุรี สะท้อนผ่านการจัดนิทรรศการ มาร์เก็ตติ้งเดย์ 2018 ที่ผ่านมา ความสนุกสนานและเรื่องราวทางการตลาดที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ขอเริ่มต้นที่ตัวแทนนักศึกษาสาวทั้ง 4 กลุ่มดังนี้

เริ่มต้นที่ พรพรพิชญา รักสะนะวารี ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องหนังบุญเพ็ง จ.สระแก้ว เล่าว่า กลุ่มตนเองได้สอบถามพูดคุยกับเจ้าของกลุ่มเครื่องหนังบุญเพ็ง แบรนด์ BURAWA และร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล จนได้โซลูชั่นในการเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ คือกลุ่มวัยรุ่นและวันทำงานตอนต้น โดยแนะนำให้ออกแบบกระเป๋าใบเล็กสำหรับใส่ธนบัตร เศษสตางค์และบัตรเครดิต เนื่องจากก่อนหน้านี้จะผลิตกระเป๋าที่มีรูปร่างและขนาดใหญ่จึงเหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่า และเมื่อกลุ่มเครื่องหนังบุญเพ็งได้ปรับการผลิตขึ้นใหม่ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และได้เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์โดยเฉพาะเพจ Facebook จึงทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และมียอดสั่งที่เพิ่มขึ้นด้วย เจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เรียนรู้จากเรา และพวกเราก็เรียนรู้จากเขาเช่นเดียวกัน…เพราะการทำธุรกิจทุกวันนี้ หากหยุดเรียนรู้หรือหยุดพัฒนา จะไม่มีทางสำเร็จ

ขณะที่ ปิ่นสรินภัสร์ อัครวีรนนท์ ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนอรรถวีร์ ขนมกง จ.ปทุมธานี เล่าว่า ได้ช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ช่วยทำการตลาดออนไลน์ และร่วมจัดแสดงสินค้าตามงานต่าง ๆ สำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์นั้น กลุ่มตนเองได้รางวัลชนะเลิศอันดับ1 ในงานมาร์เก็ตติ้งเดย์ 2018 บรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจจิ้ง มีบทบาทด้านการสื่อสารการตลาด จึงได้ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูดความสนใจ ตอบโจทย์ทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์และผู้บริโภค โดยเลือกนำเสนอความเป็นไทย ตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ก็ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาด้วยเช่นกัน ชอบการเรียนในลักษณะนี้ เนื่องจากเรียนแล้วสามารถนำความรู้มาใช้ได้จริง และได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การช่วยเหลือระหว่างกันและกัน และขอบคุณวิสาหกิจชุมชนอรรถวีร์ ขนมกง ที่ให้ความอนุเคราะห์และเปิดใจเรียนรู้ไปด้วยกัน รวมถึงขอส่งกำลังใจให้วิสาหกิจชุมชนทุกรายโดยเฉพาะขนมไทยโบราณ ให้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง ปรับตัวก้าวทันสังคมและดำเนินต่อไปได้

พลอย ฐิตาภรณ์  โคมลอย ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนฟาร์มเห็ดกลางบ้าน จ.ปทุมธานี เล่าว่า การไปเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงด้านการตลาด ได้บรรยากาศมากกว่าการเรียนบรรยายในห้อง ตนและเพื่อนได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบแพจเกจจิ้งและใช้การสื่อสารการตลาด “เราเข้าไปค้นหาปัญหา หาแนวทางแก้ไขและนำเสนอให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำเพิ่มเติม”ปัจจุบันกระแสด้านสุขภาพยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง ถือเป็นข้อดีของธุรกิจฟาร์มเห็ด จึงได้แนะให้ปรับสูตรน้ำเห็ดเพื่อให้ดื่มได้ง่ายยิ่งขึ้น ด้วยวิธีการปรุงรสชาติเพิ่มเติมด้วยน้ำผึ้ง ซึ่งผลตอบรับดีมาก เห็นได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริ้งค์จึงตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าสายสุขภาพวัยทำงาน “แนวทางที่ประสบความสำเร็จเช่นนี้ ก็กระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจเกิดไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มากยิ่งขึ้น”

พลอย ยังกล่าวด้วยว่านอกจากการลงพื้นที่จริงแล้ว ยังได้ร่วมกันจัดนิทรรศการ มาร์เก็ตติ้งเดย์ 2018ที่รวบรวมความสำเร็จและองค์ความรู้ไว้มากมาย ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี มีการแบ่งงานกันทำ ได้ฝึกการนำเสนอโดยเฉพาะเรื่องการแสดง ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งของนักบริหารการตลาด ที่สำคัญยังสร้างเครือข่ายที่ดีเพื่อการทำงานต่อไปหลังจากสำเร็จการศึกษา

ปิดท้ายด้วย พิมพ์  พิมพ์ชนก  ศรีจันทร์ ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบ้านวังยายฉิม จ.นครนายก เล่าว่าการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ Work Integrated Learning เป็นการเรียนรู้ที่แตกต่างจากรูปแบบเดิมที่เรียนมา ไม่ได้เรียนแค่ในห้องเรียน แต่ให้นักศึกษาเรียนรู้ไปกับชุมชนสังคม ใช้ความรู้วิชาการการตลาดมาต่อยอดและเพิ่มช่องทางการขายให้กับวิสาหกิจชุมชน ตามความต้องการของชุมชนและเจ้าของธุรกิจอย่างแท้จริง วิสาหกิจชุมชนบ้านวังยายฉิม เป็นธุรกิจสมุนไพรในย่านาง เช่น น้ำย่านางสกัดเย็น วุ้นย่านาง รวมถึงแชมพูและสบู่ และได้ร่วมวางแผน จัดทำเอกสารเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์เข้าสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาวต่อไป “กิจกรรมครั้งนี้ เป็นการเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ทำให้เข้าใจบริบทของธุรกิจที่กว้างขึ้น” จะติดตาม ช่วยเหลือและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนบ้านวังยายฉิมต่อไป เพราะถือเป็นครูการตลาด ที่เปิดพื้นที่ให้นักศึกษา มทร.ธัญบุรี ได้ลงพื้นที่ทำงานจริง“อยากเห็นวิสาหกิจชุมชนของประเทศไทย เติบโต เข้มแข็งและหยัดยืนต่อไปได้ 

การหาคำตอบในเชิงธุรกิจเพื่อช่วยชุมชนนี้ เป็นการเชื่อมทฤษฎีสู่การปฏิบัติ กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม เติมเต็มประสบการณ์ให้กับนักศึกษา และที่สำคัญยังช่วยผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนสามารถแข่งขันและดำเนินธุรกิจต่อไปได้…ในยุค 4.0

Loading