วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศโมซัมบิก!!เยี่ยมชมศูนย์บริการ”วิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปทุมธานี”

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศโมซัมบิก เยี่ยมชมศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปทุมธานี

วันนี้ (4 ธ.ค.61) เวลา 09.00 น. ที่ ศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา เลขที่ 2 หมู่ที่ 2 ถนนเลียบคลอง 11 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี นายจูเซ คอนดากัว อันโตนิโอ ปาเชโก (H.E Mr.Jose Condagua Antonio Pacheco) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐโมซัมบิกและคณะเดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศและเดินทางมาเยี่ยมชม ศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยมีนายชาธิป รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายนนทกร พุ่มกล่อม ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนาและผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร นายยงยุทธ ป้อมเอี่ยม นายอำเภอลำลูกกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้การต้อนรับ


โดยกิจกรรมภายในศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา กิจกรรมข้าว จัดทำแปลงสาธิตการผลิตข้าวตามหลักการเกษตรดีที่เหมาะสม ในพื้นที่ 65 ไร่ ทั้งฤดูนาปี และฤดูนาปรัง โดยผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่มีคุณภาพจำหน่ายให้แก่เกษตรกร และเป็นแปลงตัวอย่างการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรนำไปผลิตใช้เอง หรือจำหน่ายให้เพื่อนเกษตรกรด้วยกันกิจกรรมไม้ผล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ไม้ผลแบบยกร่องสวน พื้นที่ 15 ไร่ 2) ไม้ผลตามคันคูน้ำ เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ปลูกมะม่วง มะพร้าว แก้วมังกร กล้วย และหมาก ตามคันคูน้ำรอบบริเวณโครงการ เพื่อความหลากหลายและถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติดูแลรักษาและขยายพันธุ์ให้เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปเลือกนำไปพิจารณาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง กิจกรรมพืชผักและพืชน้ำ เป็นการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษตลอดฤดูกาล โดยยึดถือความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก กิจกรรมพืชไร่ เลือกปลูกเฉพาะพืชที่สามารถนำมาปลูกได้ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดฝักอ่อน ตามแต่ความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสามารถนำไปแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต กิจกรรมเกษตรผสมผสาน เกษตรยังชีพ เป็นการดำเนินการในพื้นที่ดินขนาดเล็กโดยยึดหลัก “อยากกินอะไร ให้ปลูกอย่างนั้น” เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย หรือบริเวณหลังบ้าน ซึ่งศูนย์บริการวิชาการเกษตรฯ

ได้ดำเนินการในพื้นที่ 550 ตารางเมตร โดยปลูกทั้งผักกินใบ กินยอด กินผล ผสมกับไม้ผล เช่น กล้วยและฝรั่ง อีกทั้งยังเลี้ยงหมูหลุม และไก่ ตลอดจนปลาดุกในวงบ่อซีเมนต์ อีกทั้งยังจัดทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ และเลี้ยงไส้เดือน เพื่อปรับปรุงบำรุงดินอีกด้วยกิจกรรมแปรรูป การแปรรูป เป็นการแปรรูปผลผลิตทางด้านการเกษตรและสมุนไพรที่คุณภาพอยู่ในระดับรองลงมา นำมาเป็นผลิตภัณฑ์ 3 ประเภท ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร และเครื่องสำอาง ซึ่งได้รับเลขที่จดแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อย กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นการจัดการศึกษาดูงาน จัดประชุม อบรม จัดนิทรรศการ และจัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่แก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป กิจกรรมการบริการการพัฒนา (Social Service) เป็นการนำองค์ความรู้ ผลการดำเนินงานที่สำเร็จแล้วของโครงการไปพัฒนาให้ชุมชนที่มีอาชีพเกษตรกรรมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


สุรสิทธิ์. แห่ล้อม. /ทีมข่าวปทุมธานี.

Loading