วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

ผู้ว่าเผยระเบิดสงครามโลกยังทรงอานุภาพอยู่”ส่วนหัวรถจักรไอนำ้ยังแบ่งรับแบ่งสู้”

ผู้ว่าเผยระเบิดสงครามโลกยังทรงอานุภาพอยู่ ส่วนหัวรถจักรไอน้ำยังแบ่งรับแบ่งสู้

ผู้ว่าฯราชบุรี เผยระเบิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ยังทรงอานุภาพอยู่ ส่วนหัวรถจักรไอน้ำที่จะเอาขึ้นด้วยนั้นยังแบ่งรับแบ่งสู้ คาดกู้ก่อนปีใหม่ ขณะที่เตรียมทำบุญอุทิศให้เจ้าเมืองคนเก่าที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในครั้งนั้นด้วย

วันที่ 6 ธ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า… นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า.. การสำรวจ วัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในน้ำแม่กลองใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ เพื่อก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ว่า ทั้ง 3 เหล่าทัพได้จัดหน่วยอมภัณฑ์สังกัด กรมสรรพวุธทหารเรือดำสำรวจแบ่งพื้นที่ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ และใต้สะพานธนะรัชต์ข้างละ 100 เมตรไป 2 ด้าน 8 โซน เพื่อดำสำรวจ พบว่าโซนที่ 1- 4 ฝั่งสโมสรทหารช่างและฝั่งจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังเก่า พบวัตถุระเบิดตกค้างอยู่น่าเชื่อว่าทิ้งมาจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบ 80 ปี แล้ว น้ำหนักประมาณ 1,000 ปอนด์ เป็นระเบิดของกองทัพอังกฤษ ยังทรงอานุภาพอยู่ พร้อมที่จะจุดระเบิดได้ ส่วนฝั่งตลาดโคยกี๊และค่ายภาณุรังษี ตรวจสอบไม่พบ การดำสำรวจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการสร้างรถไฟทางคู่ ต้องขยายรางรถไฟต้องปักตอหม้อใหม่ จำเป็นต้องเก็บกู้วัตถุระเบิดนั้นออกไปก่อน ทราบว่าระเบิดตกค้างอยู่เป็นรุ่นเดียวกันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งประตูระบายน้ำบางนกแขวก จ.สมุทรสงคราม ที่คลองดำเนินสะดวก ต่อมาภายหลังจะมาซ่อมประตูระบายน้ำ มีการเก็บกู้ปรากฏว่าเกิดระเบิดขึ้น หน่วยที่ไปเก็บกู้ได้เสียชีวิต ทั้งนี้ทางกองทัพได้ประสานผู้ช่วยทูตทหารที่เยอรมันเพื่อขอความรู้ เพราะทหารของเยอรมันได้เก็บกู้ระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรเยอะ ส่วนใหญ่เก็บกู้จะประสบความสำเร็จ มีส่วนน้อยที่เกิดระเบิดในขณะเก็บกู้เสียชีวิตทำให้ทุกขณะเวลาในการปฏิบัติการมีความเสี่ยงอันตราย

แผนเดิมนั้นทางจังหวัดและทางคณะทำงานฝ่ายเก็บกู้ ซึ่งมีผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 16 เป็นประธาน ได้กำหนดแผนงานคร่าว ๆว่า ดำสำรวจ 28 พย.- 4 ธค. หลังจากนั้นประมาณวันที่ 6 ธค.- 14 ธค. จะเป็นการประชุมวางแผนปฏิบัติ หลังจาก 15 ธค.ไปแล้วก็จะเก็บกู้ให้เสร็จสิ้นก่อนปีใหม่ คิดว่าปัญหาอุปสรรคด้วยข้อจำกัดทางด้านเทคนิค ทั้งตำแหน่งที่ตั้งวัตถุระเบิด และตอนนี้กำลังประสานในรายละเอียดกับทางเจ้าของระเบิดคือทางอังกฤษ คงจะต้องใช้เวลาในการประชุมวางแผนการให้รอบคอบอีกว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าระเบิดมีความอันตราย เป็นการจุดชนวนโดยสารเคมีที่อยู่ด้านท้ายระเบิด ลักษณะเหมือนเป็นกรดแล้วกัดแผ่นที่กั้นไปกับตัวจุดระเบิด ซึ่งถ้ามีการเคลื่อนย้ายมาก ไปกระทบกระเทือนแล้วยุ่งกับระเบิดมาก อาจทำให้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้

ทำให้จากแผนเดิมที่คาดว่าจะเก็บกู้แล้วไปทำลายในจุดพื้นที่ปลอดภัยก็อาจจะมีความสุ่มเสี่ยง จำเป็นต้องวางปรับแผนการปฏิบัติ ซึ่งทั้งนี้หน่วยทหารทั้ง 3 เหล่าทัพจะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องเทคนิค ส่วนจังหวัดจะเป็นหน่วยสนับสนุนว่าระยะเวลาดำเนินการอาจจะเลื่อนออกไปอาจแล้วเสร็จไม่ทัน แต่ถ้าข้อมูลรายละเอียดมีความชัดเจน ทางหน่วยปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนปีใหม่

ส่วนกิจกรรมต่อเนื่องที่จังหวัดจะจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับพี่น้องชาวราชบุรีที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดสะพานจุฬาลงกรณ์ถึง 3 ครั้ง ในการทิ้งระเบิดครั้งที่ 2 มีความสำคัญมาก เพราะมีระเบิดแบบกระทบพื้นแล้วระเบิดเลย และแบบที่หน่วงเวลาที่พบในน้ำแม่กลองเป็นแบบเดียวกัน โดยฝ่ายสัมพันธมิตรได้มีการทิ้งระเบิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2488 และได้เกิดระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม มีประชาชนเสียชีวิต รวมถึงหลวงนิคมคณารักษ์ หรือ นายเทียน กำเนิดเพชร ซึ่งท่านเป็นเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ซึ่งได้ย้ายมารับราชการได้เพียง 1 เดือน เป็นระเบิดที่ทิ้งลงมาในรุ่นเดียวกันกับที่ทางจังหวัดกำลังจะงมค้นหาอยู่ในขณะนี้

สำหรับวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562 จังหวัดจะร่วมกับหลายภาคส่วนกำหนดจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศล และอยากให้เป็นงานประเพณีต่อเนื่องให้กับผู้ที่เสียชีวิตในขณะนั้นด้วย ส่วนวันศุกร์ที่ 18-20 มกราคม จะจัดกิจกรรมแสง สี เสียง ไลฟ์ แอนด์ ซาวด์ ขึ้นบริเวณพื้นที่สะพานจุฬาลงกรณ์ เพื่อย้อนรอยอดีตเมืองราชบุรีตั้งแต่ยุคแรกตั้งอาณาจักรสมัยยุคทวารวดีจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ถึงสมัยรัชกาล 5 รัชกาลที่ 6 ที่เสด็จประพาสราชบุรี รวมถึงสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 จนถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน วิวัฒนาการตั้งแต่ต้นจนถึงราชบุรีในปัจจุบัน และไม่ว่าจะกู้ระเบิดเสร็จหรือไม่เสร็จ งาน ไลฟ์ แอนด์ ซาวด์ จัดได้แน่นอน ไม่มีปัญหา เพราะไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับใต้น้ำ ถือเป็นปีแรกที่ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา

ส่วนการค้นหาวัตถุระเบิดใต้น้ำนั้นยังค้นพบหัวรถจักรไอน้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จมอยู่ใต้น้ำด้วย จึงมอบหมายให้นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดไปพูดคุยกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้แล้วว่า ถ้าเสร็จสิ้นภารกิจกับการเก็บกู้วัตถุระเบิดแล้ว ถ้ามีความปลอดภัยเรื่องของการกู้ซากของหัวรถจักรเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยทาง รฟท.ได้แบ่งรับแบ่งสู้ไว้ว่ายินดีที่จะช่วย แต่ทั้งนี้จะต้องดูเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้วย ว่าสภาพซากที่จะกู้ขึ้นมานั้นคุ้มค่ากับการดำเนินการหรือไม่ ซึ่งตนเองมีประสบการณ์ในขณะเป็นรองผู้ว่าราชการ จ.ชุมพร เมื่อปี 2553-2554 เรื่องยกเรือหลวงปราบเป็นเรือหลวงยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ของกองทัพเรือที่ปลดระวางแล้ว นำไปจมลงในท้องทะเลที่อ่าวไทยแถว จ.ชุมพร เพื่อให้เป็นแหล่งอาศัยของปะการัง ปรากฏว่าพอจมเรือไปแล้วเรือกลับตะแคงไม่ได้ตั้งตามรูปทรงที่ควรจะเป็น จึงต้องมีการกู้เรือเพื่อตั้งใหม่ หมดเงินไปหลายล้านบาท โดยกู้ครั้งแรกไม่สำเร็จ ต้องกู้ครั้งที่ 2 ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ส่วนหัวรถจักรที่จมใต้น้ำแม่กลองมีน้ำหนักหลายพันตันจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายมากสำหรับดำเนินการเรื่องนี้

สุจินต์ นฤภัย (เต้)

Loading