วันอังคาร, 23 เมษายน 2567

วส.912 จัดสนทนาสังคมพหุวัฒนธรรม”

วส.912 จัดสนทนาสังคมพหุวัฒนธรรม หัวข้อเรื่อง ความเป็นพหุวัฒนธรรมของคนสยามในรัฐกลันตัน กับความเป็นพหุวัฒธรรมของคนไทยใน จชต

ที่สถานีวิทยุกระจายเสียง 912 สนง.พัฒนาภาค 4 จังหวัดนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้จัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียง 912 สนง.พัฒนาภาค 4 จังหวัดนราธิวาส สนทนาสังคมพหุวัฒนธรรม หัวข้อเรื่อง ความเป็นพหุวัฒนธรรมของคนสยามในรัฐกลันตัน กับความเป็นพหุวัฒธรรมของคนไทยใน จชต.โดยมี นายจ๋วน คณิตศร รองประธานสมาคมสยามกลันตันประเทศมาเลเซีย น.อ.นิรัตน์ ทากุดเรือ ผบ.ฉก.นย.ทร./ผบ.ฉก.นย.ภต น.อ.อธิสพล สังขรัตน์ หัวหน้าสถานีวิทยุกระจายเสียง 912 ร่วมจัดรายการ โดยมีพ.ท.อัสรี สะมะแอ ผู้ดำเนินรายการ

นายจ๋วน คณิตศร รองประธานสมาคมสยามกลันตันประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ชาวสยามในมาเลเซียเป็นคนเชื้อสายเดียวกับคนในประเทศไทย ซึ่งได้อพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนมลายูเมื่อประมาณ 300-500 ปีมาก่อนแล้วในสมัยยุคล่าอาณานิคม ไทยถูกบังคับให้เซ็นสนธิสัญญายกไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู และเประ ตอนบนให้อังกฤษซึ่งยังมีชาวสยามที่อาศัยอยู่ในเมืองตุมปัด ในรัฐกลันตัน เนื่องจากการแบ่งเขตดินแดนกับอังกฤษ ในการยึดครองมลายู ในครั้งนั้นได้ใช้แม่น้ำโก-ลกเป็นแนวเขตแดน และใช้ศาสนสถานที่แสดงให้เห็นว่า ได้มีชาวไทยอพยพมาอาศัยอยู่ มาช้านานแล้วคือ วัดชลธาราสิงเหหรือวัดพิทักษ์แผ่นดิน ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

ถึงแม้ว่าจะอยู่ในมาเลเซียมาช้านานคนสยามก็ยังคงธำรงรักษาประเพณีวัฒนธรรม และภาษาของตนเองไว้ได้ตราบจนถึงทุกวันนี้ และยังเรียกตัวเองว่าเซียมหรือสยาม ชาวสยามในมาเลเซียมีการรวมตัวกันเป็นสมาคม เพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆที่พึงจะได้รับจากทางการ เพื่อคงไว้ซึ่งภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในมาเลเซีย มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทยและมีการสอนให้รักชาติไทย รักศาสนาพุทธ เทิดทูลพระมหากษัตริย์ไทย มีการชักธงชาติไทยควบคู่กับธงชาติมาเลเซีย

น.อ.นิรัตน์ ทากุดเรือ ผบ.ฉก.นย.ทร. กล่าวว่า วิถีชีวิตสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับพี่น้องคนสยามในรัฐกลันตันแต่อย่างใด เป็นสังคมที่พี่น้องเราอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างของทั้งวิถีชีวิต ลัทธิความเชื่อทางศาสนา ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ภาษา ฐานะ และอื่นๆ พี่น้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุขเข้าใจกัน ดำเนินวิถีชีวิตร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกันอย่างกลมกลืน ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายอื่น ๆ มักจะร่วมงานประเพณีต่างๆ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย เพียงไม่กี่กลุ่มที่ได้พยายามที่จะชี้นำและทำให้พี่น้องไทยพุทธ ไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกแยก เหินห่าง โดยนำประเด็นอัตลักษณ์ เชื้อชาติ ศาสนามาเป็นประเด็นตอกย้ำให้หันหลังให้กัน หรือให้แตกแยกกัน แยกกันอยู่ แยกกันประกอบกิจกรรม ในขณะเดียวกัน สังคมเช่นเดียวกัน ข้ามพรมแดน ประเทศเพื่อนบ้านออกไป ไม่มีสภาวะเช่นนี้ กิจกรรมยังคงร่วมมือกัน ให้เกียรติกัน เคารพกันและกัน

ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส

Loading