ฝนหลวง!!มาช่วยแล้วปฏิบัติการทำฝนเทียมลดค่าฝุ่นละออง”

ฝนหลวง!! มาช่วยแล้ว ปฏิบัติการทำฝนเทียมลดค่าฝุ่นละออง

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ นำคาราแวนรวม 3 ลำ ขึ้นปฏิบัติการทำฝนเทียม บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ นครปฐม ราชบุรี และใกล้เคียง หลังพบสภาพอากาศ มีกลุ่มเมฆจึงโปรยสารเป็นผลสำเร็จ เกิดฝนตกในพื้นที่ราชบุรี และใกล้เคียง ทำให้ลดค่าฝุ่นลดลงได้

วันที่ 1 ก.พ.62 ) นายรัฐกร วรุณสุขะศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ได้นำเครื่องบินคาราแวน จำนวน 3 ลำ พร้อมนักบิน และนักวิทยาศาสตร์ ขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนเทียมในพื้นที่กรุงเทพฯ นครปฐม ราชบุรี และ ใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เปิดฐานเติมสารฝนหลวงขึ้นที่สนามบิน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม วิทยาเขตราชบุรี อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งนายวีระพล สุดชาฎา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ได้ให้เจ้าหน้าที่นำสารฝนหลวงจากศูนย์ฯภาคใต้บรรทุกใส่รถขึ้นมาช่วยลำเลียง เพื่อเตรียมนำขึ้นอากาศยานช่วยในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาร่วมกันที่สนามบินโพธาราม วิทยาเขตราชบุรี

ทั้งนี้ นายรัฐกร วรุณสุขะศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า.. เป็นนโยบายของอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก จ.ระยอง และหน่วยฝนหลวงหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระดมกำลังทั้งเครื่องบินและเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการ เพื่อลดมลพิษฝุ่นละอองตั้งแต่ กรุงเทพฯ สมุทรสาครเรื่อยมา นครปฐม และราชบุรี โดยวันนี้ค่อนข้างเป็นใจเรื่องความชื้นที่ระดับล่างค่อนข้างดี จึงตัดสินใจบิน ผลการทำงานเมฆก่อตัวค่อนข้างดี มีการติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์ฯใช้เครื่อง Caravan รวม 3 ลำ ใช้ปฏิบัติการบิน 1 เที่ยว ตั้งแต่บริเวณสนามบินกำแพงแสน จ.นครปฐม ไล่ลงมาเรื่อย ๆ จนถึงสมุทรสาคร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ค่อนข้างเยอะ ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี และยังมีการวางแผนต่อเนื่องกัน จากระยองที่ขึ้นเมื่อเวลา 9.00 น. เพราะได้ไปวางแกนแถวบริเวณพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราทำให้กลุ่มเมฆที่ไหลเข้ากรุงเทพฯได้ ทางศูนย์ฯก็ได้ไปรับช่วงต่อจากตรงนั้นมาเป็นการเสริมการทำงานร่วมกัน

ส่วนทางด้าน นายวีระพล สุดชาฎา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ก็ได้เปิดเผยว่า.. กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปรับแผน ถึงแม้ว่าสภาพอากาศจะไม่เอื้อต่อการที่จะปฏิบัติการแล้วทำให้เกิดฝนตก แต่กรมฝนหลวงฯก็ได้ปรับแผนเป็นพยายามทำในขั้นตอนที่ 1 เพื่อก่อเมฆขึ้นมาให้เป็นเมฆกลุ่มใหญ่ขึ้น และให้กลุ่มเมฆได้ดูดซับฝุ่นละออง โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วนครสวรรค์จะขึ้นบินปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 1 บริเวณ อ.กำแพงแสนไปจนถึง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จากนั้นจะลงเติมสารฝนหลวงที่สนามบินโพธาราม ราชบุรี เพื่อจะขึ้นปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 2 ต่อไป โดยโอกาสที่จะทำให้เกิดฝนตกในพื้นดังกล่าวนั้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยทางศูนย์ฯจะพยายามสร้างกลุ่มเมฆขึ้นมา เพื่อจะให้เมฆช่วยดูดซับฝุ่นละอองได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะต้องคอยติดตาม ค่า PM 2.5 อีกครั้งว่าถ้าปฏิบัติการสร้างเมฆเกิดแล้วจะทำให้ค่าของคุณภาพอากาศในพื้นที่ราชบุรีลดลงหรือไม่ ถือเป็นการปรับแผนใหม่ขึ้นมาในการที่จะช่วยกันลดปัญหามลพิษตรงนี้ให้ลดลงร่วมกัน

หลังจากที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ได้ใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการขั้นตอนที่ 1 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ด้วยสูตร 1/1800 กก. ความสูง 7,000 ฟุต บริเวณพื้นที่เหนือ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ถึง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ทำให้สภาพอากาศในพื้นที่ราชบุรีที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กขุ่นมัวหนาแน่นซึ่งมีค่าPM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม และพุ่งขึ้นเป็นสีแดงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเมื่อช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ซึ่งสภาพท้องฟ้าเริ่มมีก้อนเมฆก่อตัวจากก้อนเล็กๆ ไปจนถึงเริ่มใหญ่ และมืดครึ้ม และในที่สุดไม่นานก็ได้มีฝนตกลงมาปรอย ๆ หลายอำเภอ แก้ไขปัญหาดับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศให้เบาบางลง

อย่างไรก็ตามในบ่ายวันนี้หลังจากที่ขึ้นปฏิบัติการบินเสร็จแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ได้นำอากาศยานลงจอดที่สนามบินโพธาราม ภายในวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม วิทยาเขตราชบุรี อ.โพธาราม ที่ได้อนุเคราะห์ให้ใช้สนามบินชั่วคราว โดยมีนายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เดินทางมาให้กำลังใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พร้อมสอบถามปัญหาอุปสรรคในการทำงาน นอกจากนี้นายณฐพล อุ่มเอิบ ประธานฝนหลวงจังหวัดราชบุรี ยังได้นำอาสาสมัครฝนหลวงเข้ามาช่วยกันลำเลียงสารฝนหลวงเพื่อเตรียมนำขึ้นอากาศยานปฏิบัติการในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษได้มีการตรวจวัดค่า PM 2.5 จากระดับสีแดงที่เคยวัดค่าได้เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ ได้ 101ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และได้มีการตรวจวัดอีกครั้งเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ลดลงเหลือ 74 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

 

สุจินต์ นฤภัย (เต้)

Loading