วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

ชาวบ้านบาเฆ๊ะได้เฮ!!หลังหน่วยงานลงพื้นที่ร่วมประชุมหาทางออกพร้อมวาง 3 มาตรการแก้ปัญหาทรายปิดคลอง”

ชาวบ้านบาเฆ๊ะ ได้เฮ หลังราชการลงพื้นที่ร่วมประชุมหาทางออก พร้อมวาง 3 มาตรการ แก้ปัญหาทรายปิดคลอง พร้อมผลัดดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ อ.เมืองนราธิวาส

ณ มัสยิดอาบีบักร ม. 2 บ้านบาเฆ๊ะ ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส นางฟาคีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ร่วมประชุมกับชาวบ้าน หลังได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลซัดทรายปิดทางเข้า-ออกทะเลนานกว่า 3 ปี ไม่สามรถออกเรือหาสัตว์น้ำได้ อีกทั้งน้ำในคลองบาเฆ๊ะเน่าเสียเนื่องจากไม่สามารถไหลออกสู่ทะเลได้ ทำให้สัตว์น้ำในคลองดังกล่าวพากันตายจนไม่สามารถเลี้ยงปลาในกระชัง

ล่าสุด นางฟาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายยะห์ยา ปะนาฆอ นายอำเภอเมืองนราธิวาส รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกเคียน โยธาจังหวัดนราธิวาส ประมงนราธิวาส เกษตรจังหวัดนราธิวาส กรมเจ้าท่าส่วนภูมิภาค จ.นราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือกับชาวบ้านที่มารอส่วนราชการต่างๆ จำนวนเกือบ 100 คน โดยใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ครึ่ง หลังจากทีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ม.1 ม.2 ม.7 ม.13 และ ม.9 ได้นำเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับเรื่องราวทั้งหมดไว้ไปทำการศึกษาถึงแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว รวมทั้งเตรียมจัดงบประมาณเพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาและส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อดูสถานที่จริงเพื่อการออกแบบที่เหมาะสมและศึกษาถึงผลกระทบ

นางฟาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยถึงผลสรุปในที่ประชุมและมาตรการการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องทรายปิดทางเข้า-ออกคลองเพื่อออกทะเลในวันนี้ ทางชาวบ้านได้เสนอแนวทางตามวิถีภูมิปัญญาที่เคยใช้อยู่และรวมกับหลักวิชาการเข้ามาร่วม ซึ่งผลสรุปว่าจะมีการดำเนินการใน 3 ระยะ คือระยะแรกเร่งด่วน คือการใช้งบของจังหวัดเพื่อการขุดลอกเส้นทางเข้า-ออก คลองออกสู่ทะเล โดยช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน เป็นช่วงที่ลมมรสุมไม่แรงเฉลี่ยเดือนละ 1 – 2 ครั้ง ตามความเหมาะสมของดินฟ้าอากาศ และสถานการณ์ โดยให้ทางอำเภอเมืองเป็นหน่วยเข้ามาดำเนินการด้วยการใช้เครื่องมือหนักหรือรถแบคโฮขุดลอก เพื่อให้เรือสามารถออกไปหาปลาในทะเลได้

ส่วนระยะที่ 2 เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว เป็นการสร้างเส้นทางที่ถาวร ซึ่งจะให้ทางสำนักโยธาไปดูสถานที่จริง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา เพราะมีกระบวนการทางกฎหมายของรัฐเอง กฎหมายเจ้าท่า และงบประมาณที่เยอะทั้งความลึกของน้ำทะเล ปริมาณทราย ซึ่งเป็นอีกข้อเสนอหนึ่งที่ชาวบ้านเสนอมาและรับไปดำเนินการ

ส่วนระยะที่ 3 เป็นการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่เหมาะกับวิถีของชาวประมง และเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่ต้องใช้เวลาในการออกแบบ เพื่อต้อนรับคนนอกมาท่องเที่ยวในบ้านเราพร้อมให้ทางท้องถิ่นได้เข้ามาร่วมวางแผนเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงของประมงและคุณภาพชีวิต และจะต้องนำเข้ายุทธศาสตร์จังหวัด และจะเป็น 1 ท่องเที่ยว 1 อำเภอ ในอนาคตต่อไป.

ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส

Loading