วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

SACICT ขยายเครือข่ายเชื่อมโยงงานหัตถศิลป์สู่ประเทศภูฏาน

SACICT ขยายเครือข่ายเชื่อมโยงงานหัตถศิลป์สู่ประเทศภูฏาน

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) นำโดยนางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการฯ เดินทางพร้อมด้วยครูมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2559 ไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรมกับประเทศภูฏาน ตามกรอบความร่วมมือทวิภาคีของทั้งสองประเทศเมื่อครั้งนายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561

SACICT ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ว่าด้วยการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนทักษะฝีมือเชิงช่างในงานศิลปหัตถกรรม ระหว่าง The Support Arts and Crafts International of Thailand (SACICT) กับ The Department of Cottage and Small Industry (DCSI) โดย Mr. Tandin Tshering Director General, DCSI เป็นผู้ร่วมลงนาม ซึ่งได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากบุคคลระดับสูงของภูฏานH.E. Mr. Loknath Sharma, Honorable Minister of Economic Affairs และ Mr. Dasho Yeshi Wangfujing, Secretary of Ministry of Economic Affairs และคณะผู้บริหารจากส่วนงานต่างๆ ใน Ministry of Economic Affairs, Bhutan ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหารือร่วมในการพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมระหว่างกัน

ในการนี้ ครูมีชัย แต้สุจริยา ได้นำผ้ากาบบัว ผ้าทอมือชิ้นพิเศษ ที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อการนี้มาจัดแสดง พร้อมบรรยายถึงองค์ความรู้และเทคนิคพิเศษ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากระดับสูงของทางการภูฏาน โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการสตรี ทั้งนี้ประเทศภูฏานเองตระหนักถึงการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีโดยเฉพาะในด้านการแต่งกายชุดประจำชาติ ซึ่งประชาชนมีการทอผ้าใช้ในครอบครัว ผ้าทอมือพื้นเมืองมักทอเป็นลายริ้ว ลายตาราง แต่ก็มีการทอที่ขึ้นลวดลายแบบจก ที่คล้ายคลึงกับผ้าชาติพันธุ์ไทลื้อ ทั้งลวดลายและการให้สีสัน

ทั้งนี้ภายใต้ศักยภาพและความมุ่งมั่นและภารกิจที่สอดคล้องกันในการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สืบงานและส่งต่อภูมิปัญญาในงานหัตถศิลป์ของทั้งสองประเทศ SACICT เชื่อมั่นว่าจุดเริ่มต้นของการลงนาม MOU ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและภูฏานให้แน่นแฟ้นขึ้นแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางความคิดสู่การผลิตงานหัตถศิลป์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

สุขุม แก้วกุดั่น รายงาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

Loading