วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

พัฒนาฝีมือแรงงานมุกดาหาร!!พัฒนาผู้ประกอบกิจการเพื่อสร้างแรงงานคุณภาพ”

มุกดาหาร พัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาผู้ประกอบกิจการเพื่อสร้างแรงงานคุณภาพ (Super Worker)
สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานมุกดาหาร สัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาผู้ประกอบกิจการ เพื่อสร้างแรงงานคุณภาพ (Super Worker) ภายใต้โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.00 น. ณ ห้องช้างน้าว ชั้น 3 โรงแรมมุกดาหารแกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร นายสุวิทย์ จันทร์หวร ( จัน-หะ-วอน) รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาผู้ประกอบกิจการ เพื่อสร้างแรงงานคุณภาพ (Super Worker) ภายใต้โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0 ประจำปีงบประมาณ 2562 เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ SME กลุ่ม OTOP และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรู้แนวทาง วิธีปฏิบัติในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานและลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน รวมถึงการให้บริการอื่นๆ ของหน่วยงาน ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ประกอบด้วย ผู้ประกอบกิจการ SMEs กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สถานประกอบกิจการในจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเป้าหมายต่างๆ จำนวน 65 คน

นาง พรศิวลักษณ์ ผิวสอาด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานมุกดาหาร กล่าวว่า ด้วยกระทรวงแรงงานกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศ ระยะ 20 ปี เน้นภารกิจการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ Thailand 4.0 ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) หมายถึง แรงงานยุคใหม่ที่เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำเป็นแรงงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะสูง ตลอดจน ให้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมตอบสนองนโยบายของกระทรวงแรงงานด้านบริหารแรงงานให้คนไทยมีงานทำอย่างถ้วนทั่ว สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ด้วยการประกาศนโยบายและเป้าหมายให้ “ แรงงานที่มีศักยภาพสูงและคุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานประกอบกิจการ SMEs จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 ขึ้นมา (STEM Workforce towards SME 4.0) เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานแก่คนทำงานในสถานประกอบกิจการ SMEs วิสาหกิจชุมชน OTOP ให้ทีมงานที่เชียวชาญเข้าไปปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ และลดการสูญเสียให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ด้วยการให้ทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปร่วมปรับปรุงกระบวนการผลิต

ซึ่งการดำเนินการโครงการดังกล่าวมิได้จะคาดหวังเพียงเชิงตัวเลขเท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาความคิดเชิงระบบ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เมื่อผู้ประกอบกิจการและคนทำงานในกลุ่ม SMEs วิสาหกิจชุมชน OTOP ได้รับการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป…

อนุศักดิ์ – เสาวภา แสนวิเศษ / มุกดาหาร

Loading