วันพฤหัสบดี, 18 เมษายน 2567

สาธารณสุขสุโขทัย!!เตือนกินหมูดิบ”ลาบดิบ เสี่ยงเกิดโรคหูดับ “ล่าสุด ตาย 1 ติดเชื้อ 5 ราย”

สาธารณสุขสุโขทัย เตือน กินหมูดิบ ลาบดิบเสี่ยงเกิดโรคหูดับ ล่าสุด ตาย 1 ติดเชื้อ 5


นายแพทย์บริรักษ์ ลัภนะกุล นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ออกมาเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ในเรื่องกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือปรุงไม่สุก โดยเฉพาะหมู ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่นิยมนำมารับประทานโดยเฉพาะลาบและเลือดหมูดิบ และเป็นพฤติกรรมการกินที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคหูดับ หรือสเตฟโตคอกคัส ซูอีส โดยขณะนี้ในจังหวัดสุโขทัย พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 1 ราย ยังรักษาตัวในห้องไอซียู ของโรงพยาบาล ศรีสังวร 3 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาลลำปาง 1 ราย และหายกลับบ้านแล้ว 1 รายรวม 6 ราย โดยทั้งหมดเบื้องต้นเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย จากการสอบสวนโรคทราบว่าทั้ง 6 ราย นำหมูมาปรุงเป็น ลาบ หรือ หลู้ ดิบรับประทานกันทำให้เกิดติดเชื้อดังกล่าว รายที่พบเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตคือ นายสุชาติ พลหาญ อายุ 47 ปี เข้ารักษาตัวเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม และเสียชีวิตวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 และจากสถิติทั้งประเทศตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม พบมีผู้ป่วย 115 คน เสียชีวิตแล้ว 15 คน


ทางด้านนายยศ ศิริใหม่ อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 257 ม.1 ต.ไทยชนะศึก อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ที่กินลาบดิบและเกิดอาการท้องเสีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นไข้ หมดแรง เพื่อนบ้านต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล และรักษาจนหายกลับมาใช้ชีวิตเลี้ยงวัวตามปกติได้ กล่าวว่าเข็ดแล้ว ไม่นึกว่าเชื้อโรคหูดับจะรุนแรงขนาดนี้ ที่สำคัญถึงกับตายได้ จึงขอเตือนผู้ที่ยังกินลาบ หลู้ ซ่า และปรุงอาหารดิบๆ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมการกินมากินอาหารปรุงสุก เพื่อสุขอนามัยที่ดีและไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

นายแพทย์บริรักษ์ ลัภนะกุล ขอย้ำเตือนถึงความรุนแรงของโรคไข้หูดับ ว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ซึ่งพบอยู่ในโพรงจมูกและช่องปากของหมู สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2.เกิดจากการบริโภคเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และบอก

ประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการหูดับและการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น สำหรับวิธีการป้องกันโรค คือ 1.กินหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่เติมหรือใส่เลือดดิบในอาหาร และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ 2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

Loading