นครปฐม110568วธ.นครปฐมจัดกิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่พระวิหารหลวง องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม จัดพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2568 โดยมี พระธรรมวชิรเจติยาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14 ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ประธานสงฆ์ นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธานในพิธีฯ นางสาวอรพร คัมภรีศาสตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ความเป็นมาในโครงการฯ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วมพิธีฯ
จังหวัดนครปฐม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม จัดกิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 5 – 11 พฤษภาคม 2568 โดยมีกิจกรรม คือ 1) เชิญชวนข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน รักษาศีล เข้าวัด ปฏิบัติธรรม ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ลด ละ เลิก อบายมุขทั้งปวง และ เวียนเทียน ณ วัดใกล้บ้าน 2) การแสดงมุทิตาสักการะแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และ 3) การแสดงตนเป็น พุทธมามกะ
การนี้ ได้จัดพิธีแสดงมุทิตาสักการะแด่พระสิริวชิรเวที เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม (ธ.) เจ้าอาวาสวัดสิริวัฒนาราม ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี 2567 สาขาส่งเสริมกิจการคณะสงฆ์ ซึ่งพระคุณท่านรับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 ณ ศาลาพระราชศรัทธา วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในการนี้ นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ถวายสักการะแด่พระสิริวชิรเวที เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม (ธ.) เจ้าอาวาสวัดสิริวัฒนาราม ผู้ทำคุณประโยชน์ ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี 2567 และประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2568 โดยลำดับ
ประวัติโดยสังเขป ใน “วันวิสาขบูชา” นั้น ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า และจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรกเมื่อ80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น “วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ” ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมาเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น “วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้ายเมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น “วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบันนี้
ชนิดา พรหมผลิน/นครปฐม