วันจันทร์, 29 เมษายน 2567

ชาวบ้านท่าผา ร้องการรถไฟเก็บค่าเช่าไม่เป็นธรรม วอนหน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบ

ราชบุรี – ชาวบ้านท่าผา ร้องการรถไฟเก็บค่าเช่าไม่เป็นธรรม วอนหน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบ

วันที่ 27 มิ.ย.66 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับกลุ่มชาวบ้าน ที่พักอาศัยอยู่บริเวณริมทางรถไฟใกล้เคียงโรงเรียนวัดโกสินารายณ์ หมู่ 18 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี หลังรับเรื่องร้องเรียนว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บค่าเช่าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ไม่เป็นธรรม โดยชาวบ้านได้นำใบแจ้งค่ามัดจำการขอเช่า ซึ่งมีการระบุยอดเงินที่ต้องชำระจำนวนแตกต่างกัน และในอัตราที่ค่อนข้างสูง มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น

น.ส.วิลาสิณี เนตรโต อายุ 64 ปี เปิดเผยว่า ตนอาศัยอยู่บนพื้นที่ของการรถไฟมาแล้วกว่า 20 ปี ที่ผ่านมาตนมีการจ่ายค่าเช่าเป็นเงิน 100 – 500 บาท ซึ่งมีระยะการเก็บที่ไม่แน่นอนตามแต่นโยบายของหัวหน้าสถานีรถไฟที่หมุนเวียนสลับไปมาจะเรียกเก็บ

กระทั่งเมื่อประมาณต้นปี 66 ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ของการรถไฟลงพื้นที่มาสำรวจ และทำการรังวัดที่ดินของตนและชาวบ้านคนอื่นๆ พร้อมฉีดพ่นสีสเปรย์ตัวเลขแสดงสัญลักษณ์ ต่อมาได้มีใบแจ้งค่ามัดจำการขอเช่าส่งถึงชาวบ้าน โดยของตนมีการเรียกเก็บค่ามัดจำการเช่าที่จำนวน 2 แปลง คือพื้นที่เกษตรขนาด 194 ตารางเมตร และพื้นที่บ้านพักอาศัย ขนาด 65.50 ตารางเมตร รวมค่าเช่าที่ต้องจ่ายกว่า 5,000 บาท ขณะที่ตนเป็นผู้พิการมาแล้ว 18 ปี ปัจจุบันมีรายได้หลักจากเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการรวมกันเพียง 1,400 บาทต่อเดือน

ส่วนชาวบ้านคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ และบางคนทำงานรับจ้างทั่วไป มีรายได้ที่ไม่แน่นอน จึงเกิดความเดือดร้อน นอกจากนั้น ชาวบ้านยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดบ้านเรือนตลอดทั้ง 2 ฝั่งเลียบทางรถไฟ จึงเก็บค่าเช่าที่ไม่เท่ากัน โดยฝั่งตรงข้ามเรียกเก็บเพียงหลักพันบาท แต่ฝั่งของตนบ้านบางหลังต้องจ่ายถึงหลักหมื่นบาทเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ตนและชาวบ้านยืนยันว่าต้องการเช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามระเบียบของการรถไฟ เพียงแต่อยากเรียกร้องให้การรถไฟได้เห็นใจ และสงสารชาวบ้าน ช่วยผ่อนผัน และลดอัตราการเก็บค่าเช่าลงจากเดิม ให้อยู่อัตราที่ชาวบ้านจะสามารถจ่ายได้ไหว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เพราะถ้าชาวบ้านร่ำรวย คงไม่มาอยู่แบบนี้

นายกำชัย ศรีทัศน์ ประธานคณะทำงานดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟมีนโยบายแก้ปัญหาการบุกรุกหรือรุกล้ำที่ดินบริเวณ บริเวณบ้านโป่งใหม่ – กาญจนบุรี รวมระยะทาง 120 กิโลเมตร ซึ่งคณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจไปแล้วประมาณ 90 กิโลเมตร พบประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินประมาณ 3,900 ราย และดำเนินการขึ้นทะเบียนทำสัญญาอย่างถูกต้องแล้วประมาณ 700 – 800 ราย โดยสามารถแบ่งกลุ่มผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟได้ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้ที่เข้ามาประโยชน์ก่อน โดยไม่ได้รับอนุญาต และได้รับการผ่อนผันให้ทำสัญญาเช่ากับคณะทำงานปี 2552, กลุ่มที่ยื่นขอเช่าตามระเบียบถูกต้องกับหัวหน้ากองจัดการเดินรถเขต 4 อาทิ เกษตรริมทาง และบ้านพักอาศัย, กลุ่มที่ยื่นขอเช่ากับฝ่ายบริหารทรัพย์สิน จะเป็นกลุ่มผู้เช่าเชิงพาณิชย์และบ้านพักขนาดใหญ่ และกลุ่มที่ใช้ประโยชน์โดยไม่มีสัญญาเช่า

ส่วนของอัตราการเรียกเก็บค่าเช่าของประชาชนสูง – ต่ำไม่เท่ากันนั้น ทางการรถไฟได้อ้างอิงมาจากราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง ขนาด และการใช้ประโยชน์ของที่ดินแต่ละแปลง เมื่อนำมาคำนวณจึงทำให้มีอัตราที่แตกต่างกัน
โดยในส่วนของพื้นที่ที่ชาวบ้านร้องเรียนตรงจุดนี้ ความแตกต่างเกิดจากที่ดินฝั่งของชาวบ้านที่ร้องเรียนอยู่ติดกับถนนแสงชูโต ซึ่งเป็นถนนสายหลักไป จ.กาญจนบุรี จึงมีราคาประเมินที่ดินสูง ส่งผลต่อการคำนวณค่าเช่าที่ดิน

แต่อย่างไรก็ตาม ทางการรถไฟเข้าใจในสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่ระบบ คณะกรรมการรถไฟจึงมีมติลดค่าเช่าลงเหลือร้อยละ 80 ของราคาประเมินทั้งหมด รวมทั้งยังมีนโยบายช่วยเหลือผ่อนผันให้กับประชาชนที่มีความเดือดร้อน หากประชาชนมีปัญหาติดขัดส่วนไหน อย่างไร ขอให้เข้ามาแจ้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมปัญหาเสนอไปยังคณะผู้บริหารที่มีอำนาจต่อไป

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สุจินต์ นฤภัย ( เต้ ) จ.ราชบุรี

Loading